Display mode (Doesn't show in master page preview)

20 พฤศจิกายน 2563

Econ Digest

อินโดนีเซีย...คู่แข่งผลิตรถยนต์ไฟฟ้า BEV ด้วยแหล่งแร่นิกเกิล* ใหญ่ที่สุดของโลก

คะแนนเฉลี่ย
การเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้าเริ่มขยายมายังประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะการลงทุนเข้ามายังไทยและอินโดนีเซีย อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจุบันไทยยังได้เปรียบอินโดนีเซีย จากความพร้อมของห่วงโซ่อุปทานชิ้นส่วนรถยนต์  และความสามารถในการผลิตให้เกิด Economies of Scale ที่สูงกว่า ทว่าความได้เปรียบดังกล่าว มีแนวโน้มที่จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ หากอินโดนีเซีย สามารถก้าวขึ้นมาเป็นฐานผลิตแบตเตอรี่ Li-ion  ที่ใช้ในรถยนต์ไฟฟ้าได้

การที่อินโดนีเซียเป็นแหล่งผลิตแร่นิกเกิลรายใหญ่ของโลก ครองส่วนแบ่งตลาดกว่า 1 ใน 4 ส่งผลให้นักลงทุนจากจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ แสดงความสนใจลงทุนในอุตสาหกรรมผลิตแบตเตอรี่ Li-ion  ไทยจึงเสียเปรียบอินโดนีเซียในปัจจัยนี้ค่อนข้างมาก ทำให้การลงทุนด้านแบตเตอรี่ในไทย ทำได้เพียงการนำเข้าเซลล์แบตเตอรี่มาประกอบ และมีโรงงานผลิตแบตเตอรี่ Ni-MH ที่รองรับได้เพียงรถยนต์ไฮบริดของบางค่ายรถเท่านั้น นอกจากนี้ ด้วยจำนวนประชากรในประเทศที่กำลังซื้อรถยนต์มีมากกว่า โดยอินโดนีเซียมีจำนวนประชากรผู้ใหญ่ ที่มีมูลค่าของทรัพย์สินเกินกว่า 1 แสนดอลลาร์ฯ อยู่ 1.87 ล้านคน ขณะที่ไทยมีเพียง 1.26 ล้านคน  จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มียอดขายรถยนต์ในประเทศมากที่สุดในอาเซียน โดยยอดขายเฉลี่ยต่อปี สูงเกินกว่า 1 ล้านคันแล้ว และกำลังการผลิตรถยนต์ของอินโดนีเซียเอง ก็ขยับขึ้นมาอย่างต่อเนื่องเกือบทุกปี

เพื่อป้องกันการสูญเสียแรงดึงดูดในการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าไปให้กับอินโดนีเซีย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ไทยควรเร่งปรับยุทธศาสตร์ เพื่อพัฒนาจุดแข็งเดิมที่มีอยู่ให้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะในช่วง 5 ปี ถัดจากนี้ 
ด้วยการสร้างห่วงโซ่อุปทานชิ้นส่วนสำคัญของรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มเติม แม้ไทยจะไม่สามารถผลิตเซลล์แบตเตอรี่ได้ แต่ไทยอาจดึงดูดให้เกิดการลงทุนในประเทศ สำหรับมอเตอร์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ควบคุมกระแสไฟฟ้า  รวมถึงอุปกรณ์ประกอบแบตเตอรี่อื่นๆ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนต้นทุนการผลิตรถยนต์ BEV ถึงร้อยละ 25 นอกจากนั้น ไทยควรเร่งสร้างโอกาสส่งออกรถยนต์ BEV ให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อชดเชยกับขนาดตลาดในประเทศที่เล็กกว่าอินโดนีเซีย โดยการเร่งกระบวนการทำ FTA กับสหภาพยุโรปและเข้าร่วมกลุ่ม CPTPP เพื่อหาตลาดต่างประเทศ ตลอดจนพัฒนาขีดความสามารถในการเป็นประเทศที่มีต้นทุนการขนส่งรถยนต์เพื่อส่งออกที่ต่ำ ผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้การขนส่งรถยนต์ไปตลาดตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรป สามารถทำได้รวดเร็วมากขึ้น









                                                                                                                                                       ​   ขอบคุณภาพจาก  Shutterstock.com


Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest