Display mode (Doesn't show in master page preview)

11 พฤษภาคม 2565

Econ Digest

CBAM มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน อีกหนึ่งมาตรการเร่งการปรับตัวของผู้ส่งออก

คะแนนเฉลี่ย

​มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (CBAM) เป็นหนึ่งในมาตรการที่มีเป้าหมายให้ EU สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ในการลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้ได้อย่างน้อย 55% ภายในปี 2030 เทียบกับปี 1990 และลดลงเหลือศูนย์ ภายในปี 2050 โดยจะบังคับให้การนำเข้าสินค้าจากประเทศที่ไม่ใช่สมาชิก EU ที่มีราคาสูงกว่า 150 ยูโร และอยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่ง 5 อุตสาหกรรมเป้าหมายแรก คือ ซีเมนต์ บริการไฟฟ้า ปุ๋ย เหล็กและเหล็กกล้า และอะลูมิเนียม ต้องได้รับอนุญาตและมีการรายงานข้อมูลตามกลไก CBAM ซึ่งจะเริ่มบังคับใช้ในปีหน้า โดยช่วง 3 ปีแรก (2023 – 2025) จะเป็นการรายงานข้อมูลเท่านั้น และจะบังคับใช้เต็มรูปแบบในปี 2026 ทั้งนี้ ทางรัฐสภายุโรป อยู่ระหว่างการพิจารณาขยายขอบเขตมาตรการ โดยจะให้เพิ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ สารเคมีอินทรีย์พื้นฐาน ไฮโดรเจน แอมโมเนีย และ โพลีเมอร์ ปรับวิธีคิดปริมาณก๊าซเรือนกระจกและลดระยะเวลาการรายงาน ซึ่งจะทำให้ผู้ส่งออกต้องจ่ายค่าธรรมเนียมคาร์บอนที่เพิ่มมากขึ้นและเร็วขึ้นจากเดิม


สำหรับผลกระทบต่อผู้ส่งออกไทยนั้น ในภาพรวมการส่งออกของไทยไปยัง EU ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย มีสัดส่วนไม่มากนัก โดยมีการส่งออกหลักใน 2 อุตสาหกรรม คือ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และอะลูมิเนียม ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกรวมในปี 2564 อยู่ที่ 17,187 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2.18% ของมูลค่าการส่งออกรวมไปยัง EU ขณะที่สินค้าเคมีภัณฑ์ที่ EU อยู่ระหว่างการพิจารณาขยายขอบเขตให้เข้าร่วมมาตรการ CBAM นั้น มีมูลค่าการส่งออกที่ 9,397 ล้านบาท หรือ 1.19% ของมูลค่าการส่งออกรวมไปยัง EU


ทั้งนี้ ผู้ส่งออกไทยในอุตสาหกรรมเป้าหมายควรเร่งปรับตัวเพิ่มประสิทธิภาพและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต จัดทำระบบการเก็บข้อมูลก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตที่มีมาตรฐาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รักษาฐานลูกค้าในต่างประเทศและเตรียมรองรับมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่จะเข้มงวดมากขึ้น ทั้งจาก EU และประเทศคู่ค้าอื่น เช่น สหรัฐฯ ซึ่งกำลังพิจารณากฎหมายและอาจจะมีการเก็บค่าธรรมเนียมคาร์บอนในอุตสาหกรรมเป้าหมายเช่นเดียวกับ CBAM ในปี 2567 ซึ่งสหรัฐอเมริกาถือเป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 1 ของไทยในอุตหสาหกรรมเป้าหมายหลัก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเหล็ก และอะลูมิเนียม

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest