Display mode (Doesn't show in master page preview)

7 กันยายน 2565

Econ Digest

ผู้ส่งออกไทยพร้อมหรือยัง? สหรัฐฯ เตรียมออกกฎหมาย Clean Competition Act

คะแนนเฉลี่ย

​วุฒิสภาของสหรัฐได้เสนอร่างกฎหมาย Clean Competition Act ซึ่งประกอบด้วยมาตรการกำหนดกลไกราคาคาร์บอน (Carbon Pricing) สำหรับสินค้าที่ผลิตในสหรัฐฯ และมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: US-CBAM) สำหรับสินค้านำเข้า โดยกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย คือ การผลิตและกลั่นปิโตรเลียม ปิโตรเคมี ปุ๋ย ไฮโดรเจน กรดอะดิพิก ซีเมนต์ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม กระจก เยื่อกระดาษและกระดาษ และเอทานอล ซึ่งปี 2024 ผู้ผลิตสินค้าในอุตสาหกรรมเป้าหมายในสหรัฐฯ ที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงกว่าค่าเฉลี่ยต้องจ่ายภาษีตามปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกินกว่าค่าเฉลี่ย


สำหรับสินค้าที่นำเข้าไปในสหรัฐฯ จะเริ่มใช้ในปี 2026 โดย 1. สินค้าตามอุตสาหกรรมเป้าหมาย และ 2. สินค้าสำเร็จรูปที่ใช้วัตถุดิบจากอุตสาหกรรมเป้าหมายและมีน้ำหนักของวัตถุดิบเกินกว่ากำหนด จะต้องจ่ายภาษีคาร์บอนเช่นเดียวกับสินค้าที่ผลิตในสหรัฐฯ  


ทั้งนี้ ไทยไม่ได้อยู่ในกลุ่มประเทศ Least developed countries (LDCs) จึงไม่ได้รับการยกเว้นภาษีดังกล่าว ทำให้ผู้ส่งออกไทยที่ส่งสินค้าไปสหรัฐฯ ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายจะได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่สูงขึ้น ทั้งนี้ ในปี 2021 สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ รวมเป็นมูลล่า 1.3 ล้านล้านบาท การส่งออกสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายมีมูลค่า 119,631 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 9.05% ส่วนใหญ่เป็นสินค้าในอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า รองลงมาคือปิโตรเคมีและอะลูมิเนียม ขณะที่การส่งออกสินค้าที่มีสินค้าตามอุตสาหกรรมเป้าหมายเป็นวัตถุดิบอาจได้รับผลกระทบเป็นหลัก เนื่องจากมีมูลค่าส่งออกสูงถึง 689,780 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 52.2% ส่วนใหญ่เป็นสินค้าประเภทเครื่องจักรและอุปกรณ์อิเล็กโทรนิกส์


ในระยะสั้นผู้ส่งออกไทยในอุตสาหกรรมเป้าหมายควรมีการจัดเก็บข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งต้องรายงานเป็นประจำสำหรับ EU-CBAM ที่จะบังคับใช้ในปี 2023 และ US-CBAM ที่อยู่ระหว่างการพิจารณา ขณะที่ในระยะปานกลางถึงระยะยาวผู้ประกอบการควรเร่งปรับกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มิฉะนั้นผู้ประกอบการต้องเผชิญกับต้นทุนการส่งออกที่สูงขึ้น อันกระทบต่อความสามารถในการแข่งขัน

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest