Display mode (Doesn't show in master page preview)

24 พฤศจิกายน 2565

Econ Digest

รู้จัก... กองทุน Loss & Damage ช่วยประเทศกำลังพัฒนาจากภาวะโลกรวน

คะแนนเฉลี่ย

เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2565 ที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 27 หรือ COP27 ได้บรรลุข้อตกลงจัดตั้งกองทุนว่าด้วยความสูญเสียและความเสียหายจากสภาพอากาศ (กองทุน Loss and Damage) เพื่อให้ประเทศพัฒนาแล้วหรือประเทศร่ำรวยช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ นอกเหนือจากที่มีการเตือนภาคีสมาชิกว่าปัจจุบันอุณหภูมิโลกสูงขึ้น 1.1 องศาเซลเซียสจากค่าเฉลี่ยในศตวรรษที่ 19 และปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้นกว่า 50% จากที่ IPCC ได้ประเมินว่าหากอุณหภูมิโลกเฉลี่ยเพิ่มขึ้นมากกว่า 1.5 องศาเซลเซียสภายในสิ้นศตวรรษนี้ จะสร้างความเสียหายแก่โลกมูลค่า 54 - 69

ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ1

    ประเด็นเงินชดเชยด้าน Loss and Damage แตกต่างจากเงินทุนสำหรับแก้ไขปัญหาโลกรวนที่เคยมีมาที่เน้นการนำเงินไปใช้ดำเนินการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือการปรับตัวเปลี่ยนผ่านเพื่อรับมือกับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้า โดยกองทุน Loss and Damage จะเน้นจัดสรรเงินทุนเพื่อชดเชยค่าเสียหายให้กับประเทศต่าง ๆ ที่เปราะบางและไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือปรับตัวต่อผลกระทบจากภาวะโลกรวนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนาที่ขาดแคลนเงินทุน ซึ่งแหล่งเงินทุนนั้นจะถูกจัดสรรจากประเทศพัฒนาแล้วเนื่องจากเป็นต้นเหตุของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมากในช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรม



      ปัจจุบันประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศได้จ่ายเงินชดเชยความเสียหายจากสภาพอากาศเข้ากองทุน Loss and Damage ผ่าน 3 ช่องทาง ได้แก่ Santiago Network2, Global Shield Against Climate Risks initiative3  และช่องทางอื่น ๆ รวมประมาณ 360 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการดำเนินการเพื่อชดเชยผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

      อย่างไรก็ดี เกณฑ์ที่จะกำหนดว่าประเทศพัฒนาแล้วแต่ละประเทศจะต้องจ่ายเงินชดเชยเป็นจำนวนเท่าใด หรือประเทศใดบ้างที่เข้าข่ายได้รับเงินชดเชยดังกล่าวยังคงเป็นประเด็นที่จะต้องมีการพูดคุยเพิ่มเติม โดยในเบื้องต้นที่ประชุม COP27 ได้กำหนดแผนการดำเนินการชาร์ม เอล ชีค4 จัดตั้งคณะกรรมการ (transitional committee) เพื่อมาพิจารณาแนวทางการดำเนินการของกองทุนซึ่งมีกำหนดการประชุมอย่างน้อย 3 ครั้งภายในปีหน้า ก่อนการประชุม COP28 ที่จะจัดขึ้นที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์


ประเด็นอื่น ๆ ด้านเงินลงทุน

    ในการประชุม COP27 ได้มีการติดตามและเร่งรัดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินจากประเทศที่พัฒนาแล้วที่เคยมีการให้คำมั่นสัญญาว่าจะให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศด้อยพัฒนาผ่าน Climate Finance เป็นจำนวน 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ซึ่งยังมีส่วนต่างอีก 16.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ5  ที่ต้องดำเนินการให้ถึงตามเป้าหมายที่วางไว้ นอกเหนือจากเงินลงทุนเพื่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำเพื่อการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050อีกอย่างน้อยจำนวน 4-6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี จากล่าสุดในปี 2019-2020 ที่มีจำนวน 0.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น6



--------------------------------------------------------------------------------------------

1 IPCC special report: Global Warming of 1.5 C (https://www.ipcc.ch/sr15/)
2 จัดตั้งขึ้นจากการประชุม COP25 ที่กรุงมาดริด ประเทศสเปน ในปี 2019 เพื่อให้การสนับสนุนทางเทคนิค และทรัพยากรแก่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา (https://unfccc.int/santiago-network/about)
3 จัดตั้งขึ้นจากการประชุม COP27 โดยเป็นการรวมกลุ่มของประเทศกลุ่ม G7 และ กลุ่ม V20 ซึ่งประกอบด้วย 58 ประเทศเปราะบางด้านสภาพภูมิอากาศ ( https://unfccc-events.azureedge.net/COP27_89038/agenda)
4 Sharm el-Sheikh Implementation Plan (https://unfccc.int/sites/default/files/resource/cma4_auv_8f.pdf)
5 UNFCCC Standing Committee on Finance (https://unfccc.int/sites/default/files/resource/J0156_UNFCCC%20100BN%202022%20Report_Book_v3.2.pdf)
6 UNFCCC Standing Committee on Finance (https://unfccc.int/sites/default/files/resource/J0156_UNFCCC%20BA5_2022_Report_v4%5B52%5D.pdf) 




Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest