Display mode (Doesn't show in master page preview)

27 สิงหาคม 2563

Econ Digest

คลาวด์คิทเช่น ตีคู่ ฟู้ดเดลิเวอรี่ เปิดครัวกลางพร้อมอุปกรณ์... เจาะกลุ่มสั่งอาหารส่งที่พักหรือรับเอง

คะแนนเฉลี่ย

Cloud Kitchen เทรนด์ธุรกิจร้านอาหารแนวใหม่ในการตอบโจทย์ธุรกิจการบริการจัดส่งอาหาร (Food Delivery) ไปยังที่พักในไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากการที่ธุรกิจจัดส่งอาหารไปยังที่พักได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคโดยเฉพาะในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ปริมาณการจัดส่งอาหารในช่วงครึ่งแรกของปี 2563  เติบโตสูงถึงประมาณ 1.5 เท่าจากในช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน และแม้ปริมาณการจัดส่งอาหารไปยังที่พักจะชะลอลงในช่วงครึ่งหลังของปีหลังจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ผ่อนคลาย แต่ยังมีปริมาณที่สูงกว่าช่วงก่อนการแพร่ระบาด จากการเติบโตของตลาด Food Delivery ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจในห่วงโซ่ธุรกิจอาหารสนใจเข้ามาลงทุนในธุรกิจบริการจัดส่งอาหารยังที่พัก อย่างการเปิดตัวแพลตฟอร์มการสั่งอาหารธุรกิจจัดส่งอาหารไปยังที่พัก ของผู้ให้บริการรายใหม่ และอีกหนึ่งรูปแบบธุรกิจร้านอาหารแนวใหม่ที่น่าสนใจ คือCloud Kitchen ซึ่งปัจจุบันในประเทศไทยสามารถแบ่งออกได้เป็น 1.การให้บริการพื้นที่ครัวกลางพร้อมอุปกรณ์ในการทำครัว ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการร้านอาหารเข้ามาเช่าพื้นที่ครัวเพื่อประกอบอาหาร 2. การรวมร้านอาหารหลายๆประเภทของผู้ประกอบการรายใหญ่เข้ามาอยู่ในจุดพื้นที่ Cloud Kitchen เดียวกัน โดยทั้งสองรูปแบบนั้นมีจุดหมายเดียวกันคือเน้นเจาะกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการสั่งอาหารไปยังที่พักรวมถึงไปรับอาหารด้วยตนเอง (Takeaway) 

        ปัจจุบัน ธุรกิจร้านอาหารแบบ Cloud Kitchen ได้รับความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนจากผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อตอบโจทย์ทางธุรกิจของแต่ละผู้ประกอบการ ได้แก่

  • กลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีเครือข่ายร้านอาหารเพิ่มช่องทางการขายอาหารในพอร์ต (แบบ One Stop Service) รวมถึงลดค่าใช้จ่ายในการขยายสาขา เนื่องจากการขยายสาขาในรูปแบบเดิมมีต้นทุนที่สูงทั้งเงินลงทุนล่วงหน้า ค่าใช้จ่ายประจำรวมถึงแรงงาน นอกจากนี้ Cloud Kitchen ยังช่วยเพิ่มช่องทางการสร้างรายได้จากค่าเช่าที่หรือส่วนแบ่งรายได้จากร้านอาหารขนาดเล็กที่เข้ามาใช้พื้นที่ เพื่อชดเชยรายได้เฉลี่ยต่อสาขาเดิม (Same Store sale) ที่มีทิศทางชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง
  • กลุ่มผู้ให้บริการแพลตฟอร์มธุรกิจจัดส่งอาหารไปยังที่พัก ขยายฐานลูกค้าและเพิ่มช่องทางการสร้างรายได้ จากค่าเช่าที่หรือส่วนแบ่งรายได้จากร้านอาหารขนาดเล็กที่เข้ามาใช้พื้นที่  นอกจากนี้การขยายจุด Cloud Kitchen ไปยังพื้นที่ต่างๆ ช่วยลดข้อจำกัดในการสั่งอาหารข้ามเขตพื้นที่และค่าบริการขนส่งอาหาร รวมถึงช่วยดึงร้านอาหารที่มีชื่อเสียงขนาดเล็กเข้ามาร่วมในระบบ โดยผู้ประกอบการกลุ่มนี้อาจมีการนำเสนอระบบการจัดการธุรกิจหลังบ้านด้านต่างๆ อาทิ การจัดหาและขนส่งวัตถุดิบ และ การทำโฆษณา เป็นต้น ให้กับร้านอาหารที่เข้าร่วม

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจอื่นๆ อย่างผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เข้ามาลงทุนในธุรกิจ Cloud Kitchen  เพื่อสร้างรายได้จากค่าเช่าพื้นที่ ดังนั้น จากการรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์แผนการลงทุนของผู้ประกอบการรายใหญ่ทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ณ สิ้นปี 2563 จะมีจำนวน Cloud Kitchen ทั้งหมดไม่น้อยกว่า 10 จุด ซึ่งคาดว่าเกือบทั้งหมดจะตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล และหากโมเดลธุรกิจดังกล่าวสามารถสร้างรายได้ที่น่าสนใจ น่าจะมีการเข้ามาลงทุนมากขึ้นจากผู้เล่นทั้งในและนอกอุตสาหกรรมร้านอาหาร ส่งผลให้คาดว่า ณ สิ้นปี 2565 น่าจะมีจำนวน Cloud Kitchen มากกว่า 50 จุด ซึ่งคาดว่าจะมีสัดส่วนของกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีเครือข่ายร้านอาหารสูงกว่า อย่างไรก็ดีเนื่องจากโมเดลธุรกิจนี้ยังถือว่าอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการเติบโต ทำให้โอกาสในการสร้างรายได้ของผู้ให้บริการพื้นที่ Cloud Kitchen ในช่วงแรกนี้ยังมีจำกัด และหากต้องการเพิ่มรายได้จากช่องทางดังกล่าว การกระจายสาขาเพื่อให้ครอบคลุมแหล่งที่อยู่อาศัย รวมถึงการขยายพอร์ตร้านอาหารที่มีชื่อเสียงเพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ๆอาจเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการเติบโตในระยะข้างหน้า​


 
​​
             การเข้ามาของธุรกิจร้านอาหารแบบ Cloud Kitchen ผู้ประกอบการร้านอาหารรายเล็ก-กลาง ก็น่าจะเป็นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์เนื่องจากสามารถเพิ่มช่องทางการขาย ซึ่งใช้เงินลงทุนน้อยกว่าการเปิดร้านอาหารแบบเดิม นอกจากนี้ รูปแบบธุรกิจของ Cloud Kitchen มีหลายรูปแบบ ผู้ประกอบการร้านอาหารสามารถเลือกที่เหมาะกับเงินลงทุนและโครงสร้างต้นทุนของตนเอง อาทิ การเข้าไปเช่าพื้นที่ครัวและทำการตลาดเอง หรือจะเลือกรูปแบบพันธมิตรโดยมีการแบ่งสัดส่วนรายได้ขั้นต้นให้กับเจ้าของพื้นที่ Cloud Kitchen หากร้านอาหารดังกล่าวมีสัดส่วนกำไรขั้นต้นที่สูงและต้องการลดความเสี่ยงจากความผันผวนของยอดขาย อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการร้านอาหารขนาดเล็ก-กลาง ที่สนใจจะเข้าร่วมธุรกิจดังกล่าวจำเป็นต้องพิจารณาถึงปัจจัยทางธุรกิจต่างๆที่อาจส่งผลต่อธุรกิจร้านอาหารของตน อาทิ 1. อัตราการสั่งอาหารซ้ำของผู้บริโภคกลุ่มเดิมเนื่องจากขอบเขตพื้นที่การให้บริการที่จำกัดทำให้กลุ่มลูกค้าหลักจะเป็นกลุ่มผู้อยู่อาศัยในพื้นที่นั้นๆ  2. ช่องทางการสร้างรายได้ที่ถูกจำกัดเพียงแค่การจัดส่งไปยังที่พักและไปรับด้วยตนเอง (Takeaway)  3. ค่าธรรมเนียมหรือส่วนแบ่งรายได้ซึ่งจะมีผลต่อกำไรสุทธิของร้าน 4.ความสามารถในการควบคุมคุณภาพของอาหารในกรณีที่ไม่ได้ใช้พนักงานของร้านในการปรุง โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์และเปรียบเทียบถึงปัจจัยต่างๆที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการลงทุนขยายสาขาของผู้ประกอบการในโมเดลธุรกิจร้านอาหารแต่ละประเภทดังนี้

 


Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest