Display mode (Doesn't show in master page preview)

14 ตุลาคม 2564

Econ Digest

E-commerce ปี 64 คาดมูลค่าตลาดโต 30% กำลังซื้อและการแข่งขัน...ยังเป็นโจทย์หินของผู้ประกอบการ

คะแนนเฉลี่ย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ปี 64 มูลค่าการซื้อขายสินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ หรือ B2C E-commerce (เฉพาะสินค้า) น่าจะขยายตัว 30% เมื่อเทียบกับปี 63 หรือมีมูลค่าประมาณ 300,000 ล้านบาท โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการระบาดของโควิด 19 ที่ทำให้พฤติกรรมการซื้อสินค้าของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป ทั้งในแง่ของจำนวนผู้ซื้อและความหลากหลายของสินค้า ประกอบกับการปรับตัวของผู้ประกอบการที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน ไม่ว่าจะเป็นการจัดส่งสินค้าออนไลน์และช่องทางการชำระเงินที่ช่วยอำนวยความสะดวกและสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น โดยคาดว่าสินค้าจำเป็นอย่างอาหารและเครื่องดื่มจะได้รับความนิยมมากขึ้นในช่วงโควิด และมีสัดส่วนมูลค่ากว่า 33% รองลงมาเป็นกลุ่มสินค้าสุขภาพและความงาม 23% ที่เหลืออีกกว่า 44% เป็นกลุ่มสินค้าไม่จำเป็นหรือ Non-food เช่น สินค้าแฟชั่น เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และของตกแต่ง รวมถึงของใช้ส่วนตัว  

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า แม้ตลาด B2C E-commerce จะยังคงมีแนวโน้มข​ยายตัว แต่ผู้ประกอบการน่าจะเผชิญโจทย์ธุรกิจที่ท้าทายขึ้น ทั้งจากจำนวนผู้เล่นในตลาดที่เพิ่มขึ้น สวนทางกับกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังคงใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง  ในขณะที่การเติบโตของ E-commerce อาจจะไม่ได้เกิดจากการใช้จ่ายในภาพรวมของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น แต่เป็นการปรับช่องทางการซื้อขายสินค้าจากเดิมที่ซื้อผ่านช่องทางหน้าร้านมาเป็นการซื้อขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอาหารและของใช้ส่วนตัว จึงเป็นโจทย์ที่ผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวในแต่ละช่องทางการขายให้สอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ  ซึ่งในระยะข้างหน้า เทคโนโลยีใหม่ๆ น่าจะทำให้ภาพการแข่งขันของธุรกิจค้าปลีกเปลี่ยนแปลงไปได้อีก ดังนั้น ความยืดหยุ่นในการปรับตัวของธุรกิจให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งในปัจจุบันผู้ประกอบการรายใหญ่บนแพลตฟอร์มออนไลน์บางราย ยังมีการมองหาช่องทางใหม่ๆ ในการเพิ่มรายได้ หรือขยายการลงทุนในธุรกิจอื่นๆ เช่น การเงิน โลจิสติกส์ อีกด้วย

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest