Display mode (Doesn't show in master page preview)

5 ตุลาคม 2565

Econ Digest

ค่าไฟฟ้า...ยัง"ขาขึ้น" ดันธุรกิจปรับตัวรับต้นทุนเพิ่ม

คะแนนเฉลี่ย

​        ผลของสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อได้ก่อให้เกิดวิกฤตพลังงานกระจายตัวไปในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศในยุโรปที่กำลังเผชิญกับความเสี่ยงทั้งด้านอุปทานที่ขาดแคลนและราคาที่เพิ่มสูงขึ้นของก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นแหล่งพลังงานหลัก โดยล่าสุดสถานการณ์มีความน่ากังวลมากขึ้น หลังการรั่วไหลของท่อส่งก๊าซหลักที่ลำเลียงก๊าซจากรัสเซียไปยุโรป ขณะที่กำลังเข้าใกล้ฤดูหนาวของทางซีกโลกเหนือซึ่งจะมีความต้องการใช้พลังงานสูงขึ้น ภายใต้วิกฤตดังกล่าว ทำให้หลายประเทศต้องออกมาตรการเฉพาะหน้าเพื่อรองรับภาวะขาดแคลนที่กำลังเผชิญอยู่ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการลดการใช้พลังงาน หรือแม้แต่การทบทวนแผนพลังงานบางประเภทโดยเฉพาะพลังงานนิวเคลียร์และถ่านหิน

         สำหรับประเทศไทย แม้จะมีการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติเป็นแหล่งเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า โดยมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 64 ของแหล่งเชื้อเพลิงทั้งหมด ในขณะที่ความต้องการไฟฟ้ามีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นตามการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ทว่าความเสี่ยงต่อการขาดแคลนไฟฟ้าในไทยน่าจะมีจำกัด เนื่องจากได้มีการวางแผนจัดหาเชื้อเพลิงในลักษณะสัญญาระยะยาวไว้ก่อนแล้ว ได้แก่ แหล่งก๊าซธรรมชาติในเมียนมาและมาเลเซีย และสัญญานำเข้าในรูปแบบก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) อีก 4 สัญญา รวมไปถึงอุปทานที่น่าจะทยอยเพิ่มขึ้นจากการเร่งเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยซึ่งอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านสัมปทาน เพื่อให้ได้เต็มศักยภาพภายในช่วงกลางปี 2567 นอกจากนี้ ก็ยังมีการวางแผนใช้น้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาผลิตไฟฟ้าทดแทนก๊าซธรรมชาติในโรงผลิตไฟฟ้าที่เครื่องจักรรองรับได้ ทำให้หากไม่เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดขึ้น เช่น ภัยธรรมชาติที่กระทบต่อการขนส่งลำเลียง และการปิดซ่อมบำรุงแหล่งก๊าซธรรมชาตินอกแผนประจำปี เป็นต้น ความเสี่ยงต่อการขาดแคลนเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้าในไทยน่าจะมีจำกัด




         อย่างไรก็ดี ไทยน่าจะยังคงเผชิญแนวโน้มค่าไฟที่มีทิศทางขาขึ้น จากต้นทุนเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ยังคงอยู่ในระดับสูงแม้ราคาจะมีแนวโน้มย่อตัวลงบ้างในช่วงปีหน้า ประกอบกับการทยอยลดภาระอุดหนุนค่าไฟของภาครัฐ และเงินบาทที่ผันผวนในทางอ่อนค่า ทำให้ค่าไฟฟ้าในปีหน้าน่าจะยังคงมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ค่าไฟเฉลี่ยในปี 2566 น่าจะเพิ่มขึ้นแตะราว 4.85 บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 16 จากค่าไฟเฉลี่ยทั้งปี 2565 ที่อยู่ราว 4.18 บาทต่อหน่วย



         ค่าไฟฟ้าของไทยที่มีทิศทางขาขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปี 2565 ต่อเนื่องไปถึงปีหน้า ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพและกำลังซื้อของผู้บริโภค แต่ยังสร้างแรงกดดันเพิ่มเติมต่อต้นทุนของภาคธุรกิจทั้งภาคการผลิตและบริการที่กำลังเผชิญต้นทุนวัตถุดิบและแรงงานที่ปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ทุก 1% ของค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น จะทำให้ต้นทุนธุรกิจเฉลี่ยเพิ่มขึ้นประมาณ 0.024% ส่งผลให้ภาคธุรกิจต้องเผชิญแรงกดดันด้านต้นทุนส่วนเพิ่มเฉพาะที่เกิดจากค่าไฟราว 0.8% จากค่าไฟขาขึ้นในช่วงปี 2565-66 โดยเฉพาะธุรกิจโรงผลิตน้ำแข็ง โรงแรมและที่พัก และสิ่งทอ ซึ่งมีสัดส่วนต้นทุนค่าไฟต่อต้นทุนรวมมากกว่าร้อยละ 10

        ภายใต้ทิศทางขาขึ้นของค่าไฟที่ส่งผลต่อต้นทุนธุรกิจดังกล่าว การปรับขึ้นราคาสินค้าหรือบริการอาจกระทำได้จำกัดในช่วงที่เศรษฐกิจและกำลังซื้อของผู้บริโภคเพิ่งจะเริ่มฟื้นตัว ส่งผลให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องใช้แนวทางปรับตัวอื่นประกอบเพื่อบริหารจัดการต้นทุนค่าไฟฟ้า  โดยแนวทางเฉพาะหน้า ผู้ประกอบการธุรกิจอาจจำเป็นต้องรณรงค์การประหยัดไฟอย่างจริงจังภายในองค์กร ควบคู่ไปกับแนวทางอื่น เช่น ในกรณีผู้ประกอบการโรงงาน อาจจะวางแผนเพิ่มสัดส่วนการผลิตในช่วงเวลาที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าน้อย (Off Peak) ซึ่งมีอัตราค่าไฟที่ถูกกว่า หรือสำหรับผู้ประกอบการที่มีความพร้อม อาจใช้แนวทางระยะกลาง โดยปรับใช้แหล่งพลังงานทางเลือกอื่นซึ่งมีต้นทุนค่าไฟที่ต่ำกว่า โดยเฉพาะโซลาร์รูฟท็อป ซึ่งเป็นทางเลือกที่สามารถตอบโจทย์ได้ทั้งด้านต้นทุนค่าไฟที่ย่อมเยาและด้านการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสังคม (ESG) ที่กำลังเป็นกระแสอยู่ในปัจจุบัน เป็นต้น


 


Click
 ชมคลิป วิกฤตพลังงาน...ไทยจะเสี่ยงขาดแคลนเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าหรือไม่?

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น