Display mode (Doesn't show in master page preview)

24 พฤษภาคม 2564

Econ Digest

พ.ร.ก. กู้เงินเพิ่ม 7 แสนล้านบาท สร้างความยืดหยุ่นแก่รัฐฯ ในการดูแลเศรษฐกิจ

คะแนนเฉลี่ย


มติ ครม. เห็นชอบ พ.ร.ก.กู้เงิน 7 แสนล้านบาท เพิ่มเติมจากวงเงินกู้เดิม ซึ่งพ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มนี้จะช่วยสร้างความยืดหยุ่นแก่รัฐฯ ในการดูแลเศรษฐกิจ ซึ่งการใช้วงเงินกู้จริงจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดและภาวะเศรษฐกิจในช่วงข้างหน้า ในทางตรงข้าม หากไม่มี พ.ร.ก.กู้เงินฯ นี้ แต่การแพร่ระบาดยังไม่ทุเลาลง รัฐฯ จะขาดเครื่องมือทางการคลังในการช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ 

การกู้เงินเพิ่มทำให้ระดับหนี้สาธารณะของไทยเข้าใกล้เพดานที่ 60% ของ GDP เร็วขึ้น และจำเป็นต้องขยายเพดานในระยะเวลาอันใกล้ ซึ่งยังอยู่ในวิสัยทัศน์ที่สามารถทำได้ ทั้งนี้ ระดับหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนมี.ค. 2564 อยู่ที่ 54.3% ของ GDP ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ณ สิ้นปีงบประมาณ 2564 จะอยู่ที่ราว 58.7-59.6% ของ GDP ภายใต้สมมติฐานที่รวมพ.ร.ก. กู้เงิน 7 แสนล้านบาทแล้ว

ประเด็นติดตามอยู่ที่มุมมองของนักลงทุนต่อการกู้เพิ่มของรัฐฯ ซึ่งการสื่อสารและการรักษาวินัยทางการคลังต่อจากนี้เป็นสิ่งสำคัญ หากนักลงทุนมองว่าการกู้เพิ่มจำเป็นและไม่เกี่ยวกับวินัยทางการคลัง ก็อาจจะไม่มีผลต่อความเชื่อมั่นนักลงทุน แต่หากนักลงทุนมีคำถามเกี่ยวกับการรักษาวินัยทางการคลังที่อาจจะส่งผลต่อความเสี่ยงและความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาว การกู้เพิ่มอาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นนักลงทุน ซึ่งจะมีผลต่อการขยับขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล และทำให้ต้นทุนการกู้ยืมเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ดี อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยในประเทศเท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยนอกประเทศด้วย 

ปกติการกู้และใช้จ่ายเพิ่มเติมของรัฐฯ จะช่วยกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจ แต่โควิด-19 ทำให้รายได้และการใช้จ่ายของผู้บริโภคไม่ปกติ ดังนั้นผลกระตุ้นต่อเศรษฐกิจของการกู้และใช้จ่ายเพิ่มเติมนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการแพร่ระบาด ซึ่งต้องติดตามต่อไปจึงจะสรุปผลของ พ.ร.ก. เงินกู้เพิ่มนี้ต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจได้ เบื้องต้นศูนย์วิจัยกสิกรไทยคงตัวเลขประมาณการการขยายตัวของจีดีพีปี 2564 ไว้ที่ 1.8% และจะติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดและเครื่องชี้เศรษฐกิจต่าง ๆ เพื่อใช้ประมาณการต่อไป


Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest