การต่ออายุมาตรการลดค่าธรรมเนียมโอนและจดจำนอง … แรงหนุนท่ามกลางตลาดที่ท้าทาย
ภาครัฐต่ออายุมาตรการลดค่าธรรมเนียมธุรกรรมการซื้อที่อยู่อาศัย ในปี 2566 ยังลดหย่อนหากเทียบปกติ แต่ลดหย่อนน้อยลงบางเงื่อนไขหากเทียบปี 2565
หลังจากที่ทางการไม่ต่ออายุมาตรการผ่อนคลายเพดาน LTV เป็น 100% ของสัญญาซื้อที่อยู่อาศัยหลังที่สอง ตลาดรอติดตามความคืบหน้าการต่ออายุมาตรการลดหย่อนค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัย และเมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2565 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการต่ออายุมาตรการลดค่าธรรมเนียมสำหรับที่อยู่อาศัยมือหนึ่งและมือสองที่มีระดับราคาซื้อขายและราคาประเมินทุนทรัพย์ไม่เกินมูลค่า 3 ล้านบาท และวงเงินจำนองไม่เกิน 3 ล้านบาท อีกเป็นเวลา 1 ปี (ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 31 ธ.ค. 2566)
อย่างไรก็ตาม
รายละเอียดของการลดหย่อนมีการเปลี่ยนแปลงจากปี 2565
โดยยังคงลดค่าธรรมเนียมการจดจำนองที่อยู่อาศัย เช่นเดียวกับปี 2565 ที่ร้อยละ 0.01 (อัตราการจัดเก็บปกติอยู่ที่ร้อยละ 1.0) ขณะที่การลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัย ได้ปรับเกณฑ์ลดหย่อนน้อยกว่าปี 2565 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 0.01 มาเป็นร้อยละ 1.0 ของราคาซื้อขายและราคาประเมินทุนทรัพย์ (อัตราจัดเก็บปกติอยู่ที่ร้อยละ 2.0)
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ที่ผ่านมานั้น มาตรการลดค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมในการซื้อขายที่อยู่อาศัยมีบทบาทต่อตลาดที่อยู่อาศัย เนื่องจากที่อยู่อาศัยระดับราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อหน่วย เป็นกลุ่มระดับราคาที่มีความต้องการซื้อสูง โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคอนโดมิเนียมและทาวน์เฮ้าส์
1 การต่ออายุมาตรการดังกล่าว จึงยังคงเป็นหนึ่งปัจจัยหนุนตลาดที่อยู่อาศัยในช่วงข้างหน้า แม้ผู้โอนจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากในปี 2565 แต่ค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่มต่อการทำธุรกรรม 1 สัญญาจะไม่เกิน 29,700 บาท และผู้ประกอบการพัฒนาที่อยู่อาศัยจะยังคงใช้มาตรการฯนี้ประกอบการทำการตลาด ซึ่งที่อยู่อาศัยระดับราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท ยังมีหน่วยรอขายอยู่คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 53.3% ของจำนวนที่อยู่อาศัยรอขายสะสมในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล (ข้อมูลของ AREA ณ สิ้นเดือนมิ.ย. 65) โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่อยู่อาศัยเหลือขายประเภทคอนโดมิเนียมและทาวน์เฮ้าส์ ซึ่งส่วนใหญ่กระจายอยู่ในทำเลที่มีความต้องการซื้อ
อย่างไรก็ตาม ในปี 2566 ตลาดที่อยู่อาศัยยังอยู่ท่ามกลางแรงกดดัน โดยความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคยังเผชิญความท้าทายจากการฟื้นตัวด้านรายได้ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง กำลังซื้อที่ยังเปราะบางจากภาระค่าครองชีพและหนี้ที่สูง ราคาที่อยู่อาศัยใหม่ปรับตัวสูงขึ้นตามต้นทุนต่างๆ อีกทั้งแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2566 ที่จะส่งผลต่อภาระการผ่อนชำระที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลในปี 2566 น่าจะหดตัวประมาณ 2.6% ถึงหดตัว 6.9% หรือมีจำนวน 176,000-184,000 หน่วย จากที่คาดว่าจะเติบโต 12.9% ในปี 2565
|
Click ชมคลิป ต่ออายุมาตรการลดค่าธรรมเนียมโอน-จดจำนอง...พยุงตลาดที่อยู่อาศัย
|
1 ข้อมูลของ REIC พบว่า การขายที่อยู่อาศัยใหม่ หรือ New Sales ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อหน่วย ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 มีสัดส่วนประมาณ 53% ของจำนวนหน่วยที่อยู่อาศัยขายใหม่ทั้งหมดในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล
Scan QR Code
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น