Display mode (Doesn't show in master page preview)

28 พฤษภาคม 2564

Econ Digest

จัดพอร์ตเงินออม เอาชนะเงินเฟ้อ

คะแนนเฉลี่ย

ตัวเลขเงินเฟ้อไทยที่เริ่มไต่ระดับขึ้นในเดือนเม.ย. 2564 ทำให้หลายฝ่ายหันมาติดตามประเด็นนี้เพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นภาวะที่เกิดขึ้นในจังหวะที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว โดยเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนเมษายนปีนี้ พุ่งขึ้นถึง 3.41% สอดคล้องกับทิศทางของเงินเฟ้อในหลายประเทศ ซึ่งแม้การเร่งขึ้นของเงินเฟ้อในช่วง 2-3 เดือนนี้จะเกิดขึ้นจากปัจจัยด้านอุปทาน โดยเฉพาะผลต่างของราคาน้ำมันในปีนี้เมื่อเทียบกับปีก่อนเป็นหลักก็ตาม

เราไม่อาจปฏิเสธข้อเท็จจริงที่การออมขั้นพื้นฐานด้วยการฝากเงินในธนาคาร อาจทำให้เงินออมไม่งอกเงยเร็วเหมือนการลงทุนทางอื่น เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ประเภทเงินฝากออมทรัพย์ในปัจจุบันอยู่ที่ 0.25% ต่อปี และเงินฝากประจำอยู่ที่ 0.3-0.5% ต่อปี ทำให้อัตราผลตอบแทนที่แท้จริงหลังหักเงินเฟ้อแล้วติดลบ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือเงินที่เก็บออมไว้ตลอดปีมีมูลค่าลดน้อยลงเมื่อเทียบกับราคาสินค้าและบริการที่แพงขึ้นนั่นเอง ขณะที่ ตราบใดที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งคงยืนต่ำอย่างน้อยอีก 1-2 ปีข้างหน้า อัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ก็คงยากจะเปลี่ยนแปลง

อย่าเก็บไข่ทั้งหมดไว้ในตะกร้าเดียว เป็นสำนวนฝรั่งที่เตือนให้เห็นถึงความสำคัญของการกระจายความเสี่ยง ซึ่งอาจสะท้อนยุคสมัยได้ดียิ่งกว่า “มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท" ที่กล่าวถึงเฉพาะมุมการเก็บออมอย่างเดียว เพราะหากอาศัยเพียงความมุ่งมั่นในการเก็บออมอาจเหนื่อยใจและกินแรงมาก โดยเฉพาะภายใต้ภาวะที่อัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน ดังนั้น หากเรายังเป็นผู้ที่มีเงินออมหรือมีรายรับมากกว่ารายจ่าย ควรเริ่มจัดสรรเงินออมที่ยังไม่มีความจำเป็นต้องนำมาใช้จ่ายในระยะ 2-3 ปีขึ้นไป โดยแบ่งไปลงทุนในรูปแบบอื่นเพื่อเพิ่มโอกาสในการต่อยอดเงินออมสำหรับสะสมความมั่นคงและมั่งคั่งในระยะยาว

การจัดพอร์ตเงินออมเพื่อการลงทุนให้ชนะเงินเฟ้อ แม้จะมีความมุ่งหวังในการเพิ่มอัตราผลตอบแทนจากการออม แต่เป็นคนละเรื่องเดียวกันกับพฤติกรรมการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงเพื่อโอกาสเพิ่มผลตอบแทน (Search for Yield) โดยความต่างที่สำคัญอยู่ที่วิธีการเป็นสำคัญ ในที่นี้ขอแนะนำหลัก 3 ไม่ กล่าวคือ >>>

ไม่ลืมคำนึงถึงระดับความเสี่ยงที่เรารับไหว

ไม่ทุ่มเทเงินออมทั้งชีวิตไปในทางใดทางหนึ่ง

ไม่ละเลยการกระจายการลงทุนในสินทรัพย์หลาย

ประเภทที่มีระดับความเสี่ยงแตกต่างกัน

ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสการมีไข่ในตะกร้าให้เราได้เก็บกินแม้ในสภาวะวิกฤติ  

ธรรมชาติของการลงทุน โอกาสได้ผลตอบแทนสูงมักต้องแลกมาด้วยความเสี่ยงที่สูงตามไปด้วย อาทิ หุ้น ที่โดยทั่วไปถือว่ามีความเสี่ยงสูงแต่มีโอกาสได้ผลตอบแทนที่ดี แต่มีตัวช่วยที่สามารถเลือกลงทุนผ่านกองทุนหุ้นที่มีให้เลือกตามความเชื่อและความชอบของแต่ละบุคคล ทั้งหุ้นไทย หุ้นเทศ หุ้นปันผล หุ้นเฉพาะกลุ่มธุรกิจ อาทิ หุ้นอสังหาฯ รวมถึงกองทุนทองคำ กองทุนน้ำมัน ซึ่งโดยทั่วไปหากไม่เกิดสถานการณ์ที่กระทบทุกตลาดทั่วหน้าแล้ว การเลือกลงทุนหลายประเภทจะช่วยลดทอนความเสี่ยงและทำให้ได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่าการออมด้วยเงินฝาก และ/หรือแม้แต่การออมผ่านพันธบัตรและตราสารหนี้ภาคเอกชน ซึ่งมีผลตอบแทนลดลงเป็นลำดับตามทิศทางอัตราดอกเบี้ย ขณะที่ หากต้องการผลตอบแทนสูงขึ้น สามารถเพิ่มระยะเวลาลงทุนให้ยาวขึ้น เพียงแต่ต้องมั่นใจว่าเงินออมนั้นเป็นเงินเย็นที่ยังไม่ต้องรีบใช้ในช่วงระหว่างรอเงินครบกำหนดลงทุนนั้นๆ

ดังนั้นแล้ว ในยามที่ภาวะเงินเฟ้อกำลังขยับขึ้น ถ้าผู้ออม/ผู้ลงทุนมีเงื่อนไขว่า ผลตอบแทนหรือดอกเบี้ยจากการลงทุนหลังหักเงินเฟ้อแล้วต้องไม่ติดลบและต้องมีความเสี่ยงต่ำด้วย ก็จะมีตัวเลือกที่เหลืออยู่เป็นเงินฝากประจำบางแห่ง กับพันธบัตรรัฐบาลเท่านั้น นอกเหนือจากสองตัวเลือกนี้ ก็จะต้องรับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น ... มองในแง่ดี แนวโน้มเงินเฟ้อไทยกลับมายืนอยู่ในฝั่งบวก อาจเป็นจังหวะเวลาที่ดีในการนำความรู้เกี่ยวกับช่องทางการลงทุนมาใช้ในการจัดพอร์ตเงินออมของเราให้สามารถเอาชนะเงินเฟ้อได้ !​





Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest