Display mode (Doesn't show in master page preview)

15 ตุลาคม 2564

Econ Digest

ภัยออนไลน์! นักช้อป พึงรู้....นักขาย พึงระวัง

คะแนนเฉลี่ย

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเปลี่ยนวิถีการซื้อขายจากหน้าร้านไปอยู่บนออนไลน์ เช่นเดียวกับมิจฉาชีพที่ตามติดไม่ปล่อย จากนักล้วง(กระเป๋าตังคนช้อป) นัก(ขาย)ย้อมแมว นัก(ซื้อ)เล่นเล่ห์เงินทอน ที่โกงกันทั้งแบบซึ่งหน้าและแบบแอบซ่อน มาเป็นการฉ้อโกงทางไกลที่ยากต่อการจับได้ไล่ทัน โดยในที่นี้ขอแบ่งปันเทคนิคกลโกงที่พบบ่อยและมีการร้องเรียนผ่านธนาคาร เพื่อให้รู้ทันรู้เท่าและเพิ่มความช่างสังเกต ซึ่งจะช่วยป้องกันตนเองไม่ให้ตกหลุมพรางเป็นเหยื่อได้ ดังนี้

ภัยสำหรับลูกค้าที่ซื้อของออนไลน์ พบมากในการซื้อขายสินค้าผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ (Social Network) ซึ่งอาจไม่สามารถคัดกรองข้อมูลผู้ใช้งานที่ไม่ประสงค์ดีออกไปได้ จึงเป็นช่องว่างให้มิจฉาชีพฉวยโอกาสหลอกลวงผู้ซื้อ อันเป็นสาเหตุหลักที่สร้างความเสียหายให้แก่ผู้ซื้อจำนวนมาก ดังวิธีการที่พบบ่อยต่อไปนี้

  • ล่อให้ซื้อ: ด้วยการประกาศขายสินค้าในราคาที่ต่ำกว่าปกติ โดยเฉพาะสินค้ามือสองและสินค้าแบรนด์เนมที่อยู่ในความสนใจของตลาด >>> โดยให้ผู้ซื้อโอนเงินหรือจ่ายค่าสินค้าก่อน แต่ผู้ขายไม่ส่งสินค้าให้ หรืออาจส่งแต่เป็นสินค้าไม่ได้คุณภาพตามที่โฆษณา
  • ลวงให้โอน: พบมากในกรณีการโอนซื้อของมือสองออนไลน์ ต่างจากกรณีแรกตรงที่มิจฉาชีพไม่ใช่ผู้ค้าขายที่แท้จริงและไม่มีเจตนาส่งสินค้าให้อยู่แล้ว >>> โดยชื่อบัญชีผู้รับโอนกับชื่อคนขายไม่ใช่บุคคลเดียวกัน เพื่อหลบเลี่ยงการติดตามเอาผิด ทั้งนี้ บัญชีผู้รับโอนบางส่วนอาจเป็นเด็กหรือชาวบ้านที่รับจ้างเปิดบัญชีเพื่อแลกกับเงินไม่กี่บาท นอกจากนี้ ปัจจุบันยังลามไปยังการโอนเงินด้วย QR Code ซึ่งผู้เสียหายจะไม่ทราบเลขที่บัญชีที่โอนไป ทำให้ยากต่อการติดตาม (ต้องแจ้งความให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้สอบถามข้อมูลบัญชีจากธนาคาร)
  • หลอก 2 ชิ่ง:  หลอกให้บุคคลที่ 3 โอนเงินเข้าบัญชีพ่อค้า/แม่ค้า และมิจฉาชีพสวมรอยอ้างว่าเป็นผู้โอนเงิน ซึ่งพบมากในกรณีการโอนเพื่อเล่นพนัน หรือ เกมออนไลน์      

 

ภัยสำหรับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ โดยเฉพาะผู้ที่ขายสินค้าในช่องทาง Social Media ของตนเองโดยไม่ผ่านแพลตฟอร์มกลาง (อาทิ Shopee, Lazada) มีความเสี่ยงต่อความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้เช่นเดียวกับทุกคนที่มีตัวตนอยู่บนโลกออนไลน์ ดังนั้น อย่าประมาทด้วยเพียงเพราะเป็นฝ่ายที่มีโอกาสตั้งเงื่อนไขการขายด้วยการจัดส่งสินค้าเมื่อได้รับเงินเท่านั้น >>> เพราะอันดับหนึ่งของการร้องเรียนในฝั่งผู้ขาย คือ การได้รับสลิปโอนเงิน หรือหลักฐานการชำระเงินผ่านออนไลน์ปลอม ที่ตกแต่งตัวเลขยอดเงินในสลิป ซึ่งทำให้นอกจากเหนื่อยฟรีแล้วยังไม่ได้รับเงินค่าสินค้าอีกด้วย

  
แนะนำการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับสังคมช้อปออนไลน์ ด้วยหลักการเตือนตนให้มีสติมากๆ ในทุกขั้นตอนการทำธุรกรรมการเงินบนโลกออนไลน์ เพื่อให้ได้ประสบการณ์ที่ดีไม่ว่าจะเป็นผู้ซื้อหรือผู้ขายสุจริตชน ดังนี้  

  • ตรวจสอบตัวตนผู้ที่ขายบนสื่อโซเชียล: จากหลักฐานการยืนยันตัวตนที่แสดงบนหน้าเพจ เช่น ข้อมูลการจดทะเบียนนิติบุคคล หรือใช้เว็บค้นหา (Search Engine) เช่น www.google.com เพื่อตรวจสอบประวัติการซื้อขาย (โดยให้สืบค้นเว็บที่เชื่อมโยงกัน เนื่องจากผู้ขายอาจมีหลายบัญชี) ซึ่งหากเป็นชื่อที่เคยหลอกลวงคนอื่นมาแล้ว มักจะมีคนมาเผยแพร่ข้อมูลเพื่อต่อว่าหรือแนะนำให้หลีกเลี่ยงผู้ขายรายนั้น นอกจากนี้ ยังต้องพิจารณาการเปิดเผยหมายเลขโทรศัพท์และสถานที่ติดต่อผู้ขาย หากเป็นหมายเลขบ้านมีความน่าเชื่อถือมากกว่าเบอร์โทรมือถือ นอกจากนี้ ยังมีข้อพึงระวังเพิ่มเติมในการซื้อสินค้าจากผู้ขายรายย่อยโดยตรง ดังนี้

>>> สินค้าที่มีราคาต่ำกว่าท้องตลาดมากผิดสังเกต: ให้ตรวจสอบเพิ่มเติมจากเว็บบอร์ด ประวัติแชท ข้อมูลการรีวิวสินค้าจากลูกค้าคนอื่นๆ และสอบถามกับผู้ขายให้มั่นใจก่อนชำระเงิน
  >>> หลีกเลี่ยงการจ่ายเงินจำนวนมากให้กับร้านที่ไม่เคยซื้อมาก่อน: ควรสั่งซื้อของมูลค่าน้อยก่อนเพื่อทดสอบว่าผู้ขายส่งของให้และมีตัวตนอยู่จริง แต่หากต้องการสินค้ามูลค่าสูง ควรนัดรับสินค้าและชำระเงินเมื่อได้รับของ

  • ตรวจสอบตัวตนของร้านค้าออนไลน์: ได้ที่ www.trustmarkthai.com เพื่อให้มั่นใจว่าเป็นร้านที่จัดตั้งขึ้นอย่างถูกต้อง เนื่องจากผู้ขายที่มีเว็บไซต์เป็นของตนเองย่อมมีความน่าเชื่อถือมากกว่าร้านบนเว็บโซเชียล นอกจากนี้ เว็บไซต์ที่เปิดมานานยังมีความน่าเชื่อถือมากกว่าเว็บที่เพิ่งเปิด (ส่วนใหญเว็บไซต์หลอกลวงจะเปิดในช่วงเวลาสั้น ๆ) ซึ่งสามารถตรวจสอบระยะเวลาการจดทะเบียนเว็บไซต์ได้ที่ http://dawhois.com และ http://thnic.co.th/whois หากเป็นเว็บไซต์ที่ลงท้ายด้วย .com และ .th ตามลำดับ
  • ร้านค้าบนแพลตฟอร์ม e-Marketplace: โดยเฉพาะแพลตฟอร์มที่มีชื่อเสียงน่าจะมีความน่าเชื่อถือได้ในระดับหนึ่ง เพราะมีระบบการตรวจสอบตัวตนทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย รวมทั้งบางแห่งยังมีบทบาทในเรื่องบริการหลังการขายที่เพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ซื้อ
  • ตรวจสอบความมั่นคงปลอดภัยของเครือข่ายการชำระเงิน: กรณีชำระเงินด้วยบัตรเครดิต >> มีระบบ Secure Sockets Layer (SSL) ที่ป้องกันการโจรกรรมข้อมูลบัตร โดยให้สังเกตที่อยู่เว็บไซต์ที่ถามรหัสบัตรเครดิตต้องขึ้นต้นด้วย “https:" รวมทั้งโปรแกรมเว็บเบราว์เซอร์ที่แสดงสัญลักษณ์รูปกุญแจ
  • สมัครใช้บริการตัวช่วยตรวจสอบยอดโอน: สำหรับผู้ขายที่มีปริมาณธุรกรรมมากและต้องแข่งกับเวลา อาจไม่สะดวกหากต้องตรวจสอบสลิปจำนวนมากทีละรายการบนเว็บไซต์และแอปมือถือที่เกิดรายการ ควรใช้ตัวช่วยที่ง่ายและสะดวกกว่า แม้อาจต้องแลกด้วยค่าบริการเล็กน้อย อาทิ >> ใช้บัญชีรับโอนที่เป็นบัญชีหลักน้อยแห่ง หรือเท่าที่จะตรวจสอบได้ และเลือกที่มีบริการแจ้งเตือนเงินเข้าออกแบบเรียลไทม์ อาทิ ผ่าน SMS เป็นต้น   

 
เทคโนโลยีก้าวไกล มิจฉาชีพก้าวทัน ขอเป็นกำลังใจให้นักช้อป-นักขายออนไลน์สามารถทำธุรกรรมได้อย่างมั่นใจมากขึ้น  และปลอดจากภัยคุกคามออนไลน์ แล้วมาติดตามภัยออนไลน์กันต่อในคอลัมน์ถัดไป

ขอขอบคุณที่มาของข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และธนาคารกสิกรไทย​

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest