Display mode (Doesn't show in master page preview)

8 กุมภาพันธ์ 2564

Econ Digest

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง คาด...เศรษฐกิจเมียนมาหดตัว -2.5%

คะแนนเฉลี่ย
​ความสัมพันธ์ระหว่างเมียนมากับชาติตะวันตกที่ดีขึ้น เป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจเมียนมาให้เติบโตในระดับสูงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยการลงทุนจากต่างประเทศเป็นปัจจัยให้เกิดการส่งออก และเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจเมียนมาจากสังคมเกษตร เข้าสู่สังคมอุตสาหกรรม พร้อมทั้งก่อให้เกิดการจ้างงานและยกระดับกำลังซื้อของภาคประชาชนอย่างมหาศาล การยึดอำนาจรัฐบาลโดยกองทัพเมียนมาในวันที่ 1 ก.พ. 64 ย่อมทำให้เกิดความชะงักงันในความสัมพันธ์กับชาติตะวันตก และอาจนำไปสู่การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อสภาวะการค้า การลงทุน และเศรษฐกิจโดยรวมของเมียนมาอย่างเลี่ยงไม่ได้ 

สิทธิพิเศษทางการค้าทำให้การส่งออกของเมียนมาไปยังสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด หากมีการเพิกถอนย่อมส่งผลกระทบต่อการส่งออกโดยตรง โดยเฉพาะสินค้าสิ่งทอและเครื่องแต่งกาย ที่เมียนมาส่งออกไปยังตลาดสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ สูงถึง 60% ซึ่งอาจทำให้มูลค่าการส่งออกของเมียนมาหดตัวลงประมาณ -10% ในปี 2564 นอกจากนี้ การเข้ายึดอำนาจของกองทัพ ยังส่งผลกระทบต่อการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ เพราะทำให้เกิดความไม่แน่นอนทางการเมือง และความเสี่ยงที่จะถูกถอดถอนสิทธิประโยชน์ทางการค้า นักลงทุนต่างชาติอาจจะชะลอหรือยุติการลงทุนในเมียนมา เมื่อประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19  คาดว่า ในปี 2564 การลงทุนจากต่างประเทศในเมียนมาจะลดลงได้ถึง -30% ถึง -40%

ปัจจัยความเสี่ยงดังกล่าว อาจจะเกิดขึ้นและส่งผลเป็นวงกว้าง ครอบคลุมถึงการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรม ที่มีการจ้างงานกว่า 1 ล้านตำแหน่ง ในอุตสาหกรรมสิ่งทอและตัดเย็บเสื้อผ้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2564 การเติบโตทางเศรษฐกิจของเมียนมา จะหดตัวราว -0.5% ถึง -2.5% สำหรับผลกระทบต่อไทย จากความเปราะบางทางเศรษฐกิจของเมียนมา จะยิ่งส่งผลให้การผลิตและการบริโภคในภาพรวมทรุดตัวลง  กดดันให้สินค้าไทยที่ส่งผ่านชายแดนไปเมียนมาในปี 2564 หดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 โดยลดลง -0.5% มูลค่าการค้าลดลงเหลือราว 86,600 ล้านบาท และอาจส่งผลให้ไทยขาดแคลนแรงงานในภาคธุรกิจต่างๆ  อันเป็นผลจาก ความไม่แน่นอนในนโยบายการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างประเทศ เช่น ความเสี่ยงในการปิดด่าน หรือ การใช้มาตรการตรวจเข้มพลเมืองที่เดินทางเข้าออกประเทศ เป็นต้น


Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest