Display mode (Doesn't show in master page preview)

27 ธันวาคม 2564

Econ Digest

คนกรุงฯ ฉลองรับปีขาล ใช้จ่ายเงินสะพัด 30,500 ล้านบาท

คะแนนเฉลี่ย

​        เทศกาลปีใหม่ 2565 น่าจะกลับมาคึกคักกว่าปีก่อน จากสถานการณ์โควิด-19 และการเข้าถึงวัคซีนที่ดีขึ้น กอปรกับมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อของภาครัฐ และการเร่งจัดแคมเปญส่งเสริมการขาย อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ Omicron โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงมีมุมมองที่ระมัดระวังว่าเม็ดเงินการใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ ช่วงปีใหม่ 2565 น่าจะอยู่ที่ราว 30,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.0% (YoY) จากฐานที่ต่ำในปีก่อน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะภาวะเงินเฟ้อทำให้ราคาสินค้าและค่าครองชีพสูงขึ้น (กรณีไม่มีการระบาดรุนแรงเพิ่มเติม)

        การเลี้ยงสังสรรค์และช้อปปิ้งซื้อสินค้าน่าจะกลับมาขยายตัวจากการผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยกว่า 60% ของกลุ่มตัวอย่าง มีแผนไปสังสรรค์ที่ร้านอาหารในช่วงปลายปี ซึ่งค่าใช้จ่ายเฉลี่ยสำหรับการเลี้ยงสังสรรค์ปรับเพิ่มขึ้นจาก 2,000 บาทต่อคนในปีที่แล้ว เป็น 3,000 บาทต่อคน ซึ่งสอดคล้องกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากปีที่แล้วที่ส่วนใหญ่จะซื้อวัตถุดิบมาปรุงเองหรือสั่งอาหารมาทานที่บ้าน สำหรับการซื้อสินค้าและของขวัญในช่วงส่งท้ายปี 64 น่าจะฟื้นตัวจากปีก่อน จากการขยายเวลาเปิดร้านค้าและห้างสรรพสินค้าเป็นหลัก และอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และโปรโมชั่นด้านราคาของภาคธุรกิจ สอดคล้องกับผลสำรวจที่กว่า 70% ของกลุ่มตัวอย่าง มีแผนซื้อสินค้าด้วยงบประมาณเท่าเดิมหรือมากกว่าปีก่อน และมากกว่า 20% คิดว่าจะใช้จ่ายมากขึ้น หากรัฐฯ มีมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายเพิ่มเติม แต่ประชาชนก็ยังระมัดระวังการใช้จ่ายจึงทำให้สัดส่วนค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสินค้าจำเป็น สำหรับช่องทางการซื้อสินค้า ส่วนใหญ่ซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์ เนื่องจากมีโปรโมชั่นบ่อยครั้งและสะดวกในการจัดส่ง แต่ก็มีผู้ตอบแบบสำรวจมากกว่า 1 ใน 3 มีแผนไปซื้อสินค้าที่ห้างสรรพสินค้าและ Hypermarket เพื่อทำกิจกรรมนอกบ้าน

        สำหรับปัจจัยท้าทายซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการเพิ่มยอดขายของธุรกิจในช่วงเทศกาลปีใหม่ คือ กำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ท่ามกลางภาวะค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น และการแข่งขันทางธุรกิจที่เข้มข้น ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวเพื่อกระตุ้นยอดขาย โดยเฉพาะการเร่งจัดแคมเปญโปรโมชั่นด้านราคา การบริหารต้นทุนและเพิ่มสภาพคล่องเพื่อให้ธุรกิจยังสามารถดำเนินต่อไปได้ในระยะนี้

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest