Display mode (Doesn't show in master page preview)

26 กุมภาพันธ์ 2563

Econ Digest

จิ้งหรีด...โอกาสธุรกิจที่รอการสนับสนุน

คะแนนเฉลี่ย

​​            แมลงอย่าง จิ้งหรีด กำลังเป็นสัตว์เศรษฐกิจใหม่ที่ภาครัฐส่งเสริมการเลี้ยงเชิงพาณิชย์เพื่อรับกับเทรนด์อาหารเพื่ออนาคต เนื่องจากการบริโภคแมลงเริ่มเป็นที่จับตามองในฐานะโปรตีนทางเลือกที่มีศักยภาพเติบโตสูง องค์การสหประชาชาติ (UN) ประกาศให้แมลงเป็น Super Food ที่มีสารอาหารสูง และหลายประเทศเริ่มยอมรับแมลงเป็นโปรตีนสำรอง ด้วยจุดเด่นสำคัญคือการเป็นแหล่งโปรตีนคุณภาพที่ปลดปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมน้อยกว่าโปรตีนที่มาจากปศุสัตว์ ปัจจุบันความต้องการโปรตีนจากแมลงทั่วโลกที่ถูกประเมินไว้ว่าจะสูงถึง 400 ล้านตัน/ปี โดยมีตลาดบริโภคแมลงที่ใหญ่ที่สุดอยู่ในเอเชีย  (ญี่ปุ่น จีนและอาเซียน) ซึ่งนิยมบริโภคแมลงที่ยังไม่แปรรูป (เป็นตัว) ที่เหลือกระจายตัวอยู่ในสหรัฐฯ สหภาพยุโรปและตะวันออกกลาง กลุ่มนี้นิยมบริโภคแมลงที่แปรรูปแล้ว เช่น ผง/แป้ง อาหารสำเร็จรูปจากโปรตีนแมลง




                ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สถานการณ์ดังกล่าวสะท้อนถึงทางเลือกในการบริโภคโปรตีนของผู้บริโภคที่มีมากขึ้น ซึ่งเติบโตและล้อไปกับกระแสการบริโภคเพื่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ส่วนในฝั่งของผู้ประกอบการ อุตสาหกรรมแมลงในไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ที่ถูกพัฒนาจาการเลี้ยงเพื่อเป็นอาหารพื้นบ้านไปสู่ระบบการผลิตในระดับอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดส่งออก ซึ่งมีตลาดหลักอย่าง สหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น นำรายได้มาสู่ประเทศไม่ต่ำกว่า 9 ล้านบาท ในรูปแบบแมลงสด ที่ยังไม่รวมถึงแมลงแปรรูป อาทิ ผงโปรตีนแมลง อาหารสำเร็จรูปประเภทต่างๆ ขนมขบเคี้ยว ฯลฯ ซึ่งเกษตรกรหรือผู้มีความชำนาญด้านการเพาะเลี้ยงแมลงสามารถทำได้ ด้วยต้นทุนที่ไม่สูงมาก ใช้พื้นที่น้อย ให้ผลผลิต 4-5 รอบ/ปี หากเทียบกับการเลี้ยงปศุสัตว์ที่ให้โปรตีน อาทิ ไก่ หมู วัว เป็นต้น อีกทั้งยังมีห่วงโซ่การผลิตที่ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ไล่ตั้งแต่การมีฟาร์มเพาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์ในประเทศกว่า 20,000 รายทั่วประเทศ (ได้รับการรองรับมาตรฐาน GAP ฟาร์มจิ้งหรีดไม่ต่ำกว่า 13 ราย) มีกำลังการผลิต 7-8 พันตัน/ปี ไปถึงตลาดรองรับผลผลิตทั้งในส่วนของ B2B และ B2C ไม่ว่าจะเป็นโรงงานอาหารและเครื่องดื่มแปรรูป ธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจเพื่อสุขภาพ (เครื่องสำอาง/อาหารเสริม) เป็นต้น อย่างไรก็ดี การเติบโตของธุรกิจนี้ในไทย ณ ช่วงเวลานี้ ยังต้องอาศัยระยะเวลาและอีกหลากหลายปัจจัยสนับสนุนเพราะหัวใจสำคัญของการขยายโอกาสทางธุรกิจคือ การยอมรับของผู้บริโภคที่มีต่อแมลง โดยการบริโภคแมลงในปัจจุบันยังเป็นแค่บางครั้งบางคราวและจำกัดเพียงผู้บริโภคเฉพาะกลุ่มเท่านั้น เช่น กลุ่มที่สนใจทดลองอาหารใหม่ๆ กลุ่มที่บริโภคแมลงเพื่อคุณค่าทางอาหารและกลุ่มรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นฐานลูกค้าที่แคบและยังมีจำนวนน้อย รวมไปถึงความกังวลของผู้บริโภคที่มีต่อความปลอดภัยที่จะเกิดขึ้นจากแหล่งที่มาและระบบการผลิต

              ​ดังนั้น ความอยู่รอดของธุรกิจอาจขึ้นอยู่กับการหากลุ่มตลาดเป้าหมายให้เจอ และนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มาจากแมลงให้ตรงกับความต้องการอย่างเหมาะสม ซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละตลาด ส่วนการเติบโตของธุรกิจในระยะต่อไปอาจจำเป็นต้องใช้เงินลงทุน นวัตกรรมด้านการผลิตในระดับที่สูง เพื่อสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์แมลงมากขึ้น สะท้อนจากมูลค่าผลิตภัณฑ์ในส่วนต้นน้ำอย่าง จิ้งหรีดสด ราคาปัจจุบันอยู่ที่ 100-200 บาท/กิโลกรัม หากมีการแปรรูปไปสู่รูปแบบผงโปรตีน ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์แมลงขั้นสูง ราคาจะพุ่งไปอยู่ที่ระดับ 1,000-1,800 บาท/กิโลกรัม สร้างมูลค่าเพิ่มได้มากกว่า 10 เท่า ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว อนาคตของธุรกิจแมลงในไทย ก็อาจจะไม่ได้จำกัดการเติบโตเฉพาะการผลิตเพื่อเป็นอาหารเท่านั้น แต่อาจจะขยายและถูกต่อยอดไปสู่ธุรกิจอื่นๆ ที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้สูงกว่า ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจยาและอาหารเสริม เครื่องสำอาง ฯลฯ หากอนาคตพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน การยอมรับแมลงมีมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เช่นเดียวกับโปรตีนทางเลือกจากพืชที่เริ่มได้รับการตอบรับมากขึ้นจากผู้บริโภคในขณะนี้ แม้ว่าอาจจะใช้ระยะเวลาที่มากกว่าก็ตาม​


Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest