พลาสติกเป็นสิ่งที่ถูกใช้อย่างแพร่หลายในชีวิตประจำวัน ทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค ถุง ขวดน้ำ หลอด ของเล่น บรรจุภัณฑ์ใส่อาหาร และอื่นๆ ซึ่งทั้งหมดนี้ก่อให้เกิดเป็นขยะจำนวนมหาศาล โดยในปี 2559 ทั่วโลกมีปริมาณขยะพลาสติกมากถึง 242 ล้านตัน ประเทศที่มีขยะพลาสติกมากที่สุด 3 อันดับแรกคือ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรปและอินเดีย ขณะที่ไทยอยู่อันดับที่ 12 (4.8 ล้านตัน) ทั้งนี้ พลาสติกที่ใช้ทั่วไปนั้นไม่สามารถย่อยสลายได้ด้วยตนเอง กอปรกับการจัดการที่ไม่ถูกต้อง ทำให้ต้องกำจัดโดยการเผาหรือฝังกลบ ทำให้เกิดการปนเปื้อนในแหล่งน้ำ ดิน อากาศ โดยจากข้อมูลของกรุงเทพมหานคร เดือนเม.ย. 2563 มีขยะพลาสติกมากถึง 3,440 ตัน/วัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเม.ย. 2562 ถึง 62% อันเป็นผลจากการใช้บริการ Food delivery และ Online Shopping อย่างแพร่หลายในช่วงโควิด ซึ่งในจำนวนดังกล่าวเป็นพลาสติกที่ Recycle ได้เพียง 19% นอกนั้นเป็นพลาสติกปนเปื้อน
ประเทศไทยมีความพยายามเข้ามาจัดการปัญหาขยะพลาสติดแบบใช้ครั้งเดียวโดยได้ขอความร่วมมือจากภาครัฐ เอกชน และประชาชนให้เลิกใช้พลาสติก 7 ชนิดคือ พลาสติกผสมสารอ็อกโซ่ พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม ไมโครบีด (ภายในปี 2562) ถุงพลาสติกหูหิ้วแบบบาง กล่องโฟมบรรจุอาหาร แก้วพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว และหลอดพลาสติก (ภายในปี 2565) โดยให้หันไปใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และยังตั้งเป้าให้ขยะพลาสติกทั้ง 7 ชนิดสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ 100% ภายในปี 2570
ปี 2563 อุตสาหกรรมพลาสติกของไทยมีมูลค่า 1 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 6.4% ของ GDP ในจำนวนนี้อุตสาหกรรมแปรรูปพลาสติกมีมูลค่า 8.5 แสนล้านบาท ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ต่อไปผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมพลาสติกจะเผชิญกับมาตรการและกฎระเบียบเพื่อควบคุมผลิตภัณฑ์และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งจากในและต่างประเทศ ผู้ประกอบการควรเร่งปรับปรุงกระบวนการผลิตโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วยหลักการการจัดการพลาสติกตลอดวงจรชีวิตตั้งแต่การการออกแบบและการผลิต โดยการออกแบบเชิงนิเวศเศรษฐกิจที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การจัดการพลาสติกในขั้นตอนการบริโภค และหลังการบริโภค รวมถึงใช้ประโยชน์จากนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมภายใต้ BCG Model
Scan QR Code
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น