Display mode (Doesn't show in master page preview)

5 เมษายน 2565

Econ Digest

สงครามรัสเซีย-ยูเครนซ้ำเติมเศรษฐกิจ ดันราคาสินค้าพุ่ง ผู้มีรายได้น้อยและ SMEs กระทบหนัก...เร่งปรับตัว

คะแนนเฉลี่ย


ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยที่กำลังจะเริ่มฟื้นตัวให้มีแนวโน้มสะดุดลง แม้ว่ารัสเซียและยูเครนจะไม่ใช่ประเทศคู่ค้าหลักของไทย แต่รัสเซียเป็นผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ของโลก ขณะที่ทั้งรัสเซียและยูเครนต่างเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีรายใหญ่ของโลก ซึ่งความขัดแย้งดังกล่าวทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบ ราคาแร่โลหะและวัตถุดิบต่าง ๆ ราคาปุ๋ย และราคาธัญพืช ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตอาหารสัตว์และผลิตอาหาร ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตของหลายธุรกิจในไทยเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการบางส่วนต้องขึ้นราคาสินค้า ซึ่งสะท้อนผ่านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนก.พ. ที่ขยับสูงขึ้นแตะ 5.23% (YoY) สูงสุดในรอบ 13 ปี กระทบผู้บริโภคโดยตรง

ขณะเดียวกัน รายได้ครัวเรือนไทยยังคงเปราะบาง โดยจากการสำรวจพบว่า 33.8% ของครัวเรือนที่สำรวจมีรายได้ไม่พอกับค่าใช้จ่าย ขณะที่ครัวเรือนราว 67.5% ไม่มีเงินออม ดังนั้นผู้บริโภคส่วนใหญ่ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยเลือกใช้จ่ายเฉพาะจำเป็น ลด/ชะลอการบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยและกิจกรรมสังสรรค์ ซื้อสินค้าที่ใช้ทดแทนกันได้ในราคาที่ถูกลง โดยผู้บริโภคที่มีรายได้สูงมีความยืดหยุ่นในการปรับตัวได้มากกว่ากลุ่มที่มีรายได้น้อย ขณะที่กลุ่มที่มีรายได้น้อยปรับตัวโดยหันไปใช้รูปแบบการเดินทางที่มีราคาถูกลงมากกว่ากลุ่มอื่นๆ ค่อนข้างเยอะ ดังนั้นหากมีการขึ้นค่าโดยสารสาธารณะ จะกระทบผู้บริโภคกลุ่มนี้ ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา ภาครัฐได้ออกมาตรการบรรเทาค่าครองชีพของผู้บริโภคไปบ้างแล้ว เช่น มาตรการคนละครึ่งเฟส 4 และล่าสุด ครม. ได้เห็นชอบ 10 มาตรการบรรเทาค่าครองชีพรอบใหม่ ที่จะช่วยลดค่าไฟฟ้า ตรึงราคาน้ำมันดีเซล ลดอัตราเงินสมทบประกันสังคม เป็นต้น

สำหรับอีกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ คือ ผู้ประกอบการ SMEs โดยเฉพาะผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจก่อสร้าง และร้านอาหาร ซึ่งส่วนใหญ่มีความสามารถในการบริหารจัดการต้นทุน การเข้าถึงแหล่งเงินทุน และมีความยืดหยุ่นในการปรับราคาที่น้อยกว่าผู้ประกอบรายใหญ่ ดังนั้นในระยะสั้น ผู้ประกอบการ SMEs อาจต้องปรับกลยุทธ์โดยการพัฒนาสินค้าแบรนด์รอง และลดปริมาณหรือขนาดสินค้าแทนการขึ้นราคา ขณะที่ระยะยาว อาจนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการต้นทุนและสต็อกสินค้าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest