Display mode (Doesn't show in master page preview)

25 มีนาคม 2565

Econ Digest

S&P ลดอันดับเครดิต 4 ธนาคารไทย...เพราะ?

คะแนนเฉลี่ย

​เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2565 ที่ผ่านมา บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ S&P ประกาศปรับลดอันดับเครดิตของธนาคารพาณิชย์ไทย (ธ.พ. ไทย) 4 แห่ง ประกอบด้วย บมจ. ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงไทย และธนาคารทหารไทยธนชาต อย่างไรก็ดี S&P คงอันดับเครดิตของธนาคารกรุงเทพและธนาคารกรุงศรีอยุธยาไว้ตามเดิมที่ BBB+/Stable เนื่องจากความสำคัญเชิงระบบในประเทศ และประโยชน์จากการเป็นธนาคารในเครือของธนาคารต่างประเทศซึ่งมีอันดับเครดิตสูงกว่าอันดับเครดิตของประเทศไทยตามลำดับ


ในการปรับลดอันดับเครดิตของ ธ.พ.ไทย ครั้งนี้ S&P ประเมินว่า ความเสี่ยงเชิงระบบ ซึ่งมีที่มาจากปัญหาเศรษฐกิจ อาจกระทบต่อการดำเนินงานของธนาคารในประเทศไทยมากขึ้น ประกอบกับภาระหนี้สินของลูกหนี้หลายกลุ่มยังคงอยู่ในระดับสูง และแม้ว่ามาตรการช่วยเหลือลูกหนี้และแนวทางการผ่อนปรนเกณฑ์การจัดชั้นหนี้อาจช่วยชะลอการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมที่มีการรายงานออกมา (reported NPL ratio) แต่คงต้องติดตามในช่วงจังหวะที่ลูกหนี้ออกจากมาตรการช่วยเหลืออีกครั้ง เพราะมีผลเชื่อมโยงกับปัญหาคุณภาพสินทรัพย์ของภาคธนาคาร โดย S&P มองว่า หนี้ที่เข้ามาตรการให้ความช่วยเหลือทางการเงินที่อยู่ที่ประมาณ 14% ต่อสินเชื่อรวมนั้น บางส่วนคงมีคุณภาพหนี้ถดถอยลงกลายเป็นเอ็นพีแอล ขณะที่จำนวนอีกกว่าครึ่ง อาจต้องมีการปรับโครงสร้างหนี้ในระดับที่ลึกขึ้น อาทิ ปรับยอดชำระต่อเดือน ยืดอายุหนี้ ซึ่งจะทำให้ธนาคารพาณิชย์ไทยยังต้องดูแลประเด็นหนี้จากผลพวงโควิดในครั้งนี้ในระยะปานกลางถึงยาว ตีความต่อได้ว่าปัจจัยนี้จะจำกัดขีดความสามารถในการสะสมทุนผ่านข้อจำกัดในการทำกำไร


ส่วนประเด็นหนี้ภาคครัวเรือนไทย ก็ยังคงอยู่ในระดับสูง โดยในภูมิภาคนี้คงเป็นรองเพียงเกาหลีใต้ เนื่องจากฐานะการเงินของภาครัวเรือนที่อ่อนแอ โดยข้อแตกต่างจากประเทศอื่นๆ อาทิ สิงคโปร์ คือ ความเข้มแข็งของสถานะทางการเงินของครัวเรือน (ที่วัดจากฝั่งสินทรัพย์ อาทิ เงินออมในรูปแบบต่างๆ) ของไทยจะด้อยกว่า จึงถือเป็นปัจจัยถ่วงสำคัญในรอบนี้  


ปัญหาคุณภาพสินเชื่อและหนี้ครัวเรือนสูงยังคงเป็นโจทย์ท้าทายของเศรษฐกิจไทยในช่วงหลายปีข้างหน้า เนื่องจากเป็นปัญหาที่ต้องใช้ระยะเวลาในการแก้ไข หลังจากนี้คงต้องรอติดตามปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด  โดยเฉพาะสถานการณ์โควิด-19 และวิกฤตยูเครน-รัสเซีย ที่ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อจังหวะการกลับสู่เส้นทางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของหลายๆ ประเทศ รวมถึงประเทศไทย

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest