การส่งออกไทยในช่วงต้นปี 2566 ยังคงได้รับแรงกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเดือนกุมภาพันธ์ 2566 การส่งออกไทยหดตัวที่ -4.7 (YoY) เป็นการหดตัวติดต่อกันเดือนที่ 5 โดยได้รับแรงกดดันหลักมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย อาทิ สหรัฐฯ ยูโรโซน ญี่ปุ่น สะท้อนผ่านดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของประเทศดังกล่าวในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ยังอยู่ระดับต่ำกว่า 50 และส่งผลให้การส่งออกสินค้าไทยไปตลาดสำคัญเกือบทั้งหมดยกเว้นยูโรโซนหดตัวโดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติกอย่างไรก็ดี การส่งออกไปยังตลาดจีนมีทิศทางดีขึ้นโดยติดลบน้อยลงหลังได้รับแรงหนุนจากการยกเลิกมาตรการควบคุมโควิดไปในช่วงต้นปี 2566
ทั้งนี้ สำหรับภาพรวมการส่งไทยในปี 2566 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีมุมมองว่า การส่งออกไทยจะยังคงได้รับแรงกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยูโรโซนที่เผชิญกับความไม่แน่นอนมากขึ้นจากปัญหาภาคธนาคาร ซึ่งอาจจะกระทบต่อภาคการค้าของไทย นอกจากนี้ การส่งออกไทยยังได้รับแรงกดดันจากปัจจัยฐานในปีก่อนหน้าที่อยู่ในระดับสูง และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับลดลงจากปีก่อนหน้า ขณะที่อานิสงส์จากความต้องการสินค้าของจีนมีลักษณะที่ทยอยปรับตัวดีขึ้นหลังยกเลิกมาตรการควบคุมโควิด ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงมีมุมมองว่าการส่งออกไทยในปี 2566 คงติดลบเพิ่มขึ้นที่ -1.2% (จากที่คาดการณ์เดิมเมื่อเดือนมกราคม 2566 ว่าหดตัวที่ -0.5%)
|
Click ชมคลิป
บรรยากาศเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว กระทบภาพรวมการส่งออกไทยปี 2566 มีแนวโน้มหดตัวเพิ่มขึ้นที่ -1.2% |
Scan QR Code
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น