2 ก.ค. 2565 ครบรอบ 25 ปี ที่ไทยประกาศลอยตัวค่าเงินบาทเมื่อปี 2540 ซึ่งนับเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของไทย จากเดิมที่ใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบผูกติดกับตะกร้าเงิน มาเป็นการลอยตัวแบบมีการจัดการ ซึ่งทำให้ค่าเงินบาทมีความยืดหยุ่น สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยมากขึ้น
กลับมามองสถานการณ์ในปัจจุบัน เงินบาทปีนี้มีทิศทางอ่อนค่าสอดคล้องกับหลายสกุลเงินในเอเชียซึ่งได้รับผลกระทบจากเงินดอลลาร์ฯ โดยเฉพาะการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ซึ่งแตกต่างจากปี 2540 เพราะปี 2540 เงินบาทอ่อนค่าจากการปรับอ่อนค่าหลังการลอยตัวค่าเงินเพื่อสะท้อนปัจจัยพื้นฐานที่อ่อนแอในเวลานั้น นอกจากนี้ ความผันผวนของเงินบาทปี 2565 นี้ยังอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับภาพรวมของสกุลเงินเอเชียอื่น ๆ ซึ่งมีค่าความผันผวนอยู่ที่ราว 4-6% สะท้อนว่า ธปท. ยังคงช่วยดูแลความเคลื่อนไหวและลดความผันผวนของค่าเงินบาทท่ามกลางปัจจัยไม่แน่นอนรอบด้าน
ยิ่งไปกว่านั้น จุดที่เปลี่ยนแปลงชัดเจนคือ ทุนสำรองระหว่างประเทศที่สูงและแข็งแกร่งกว่าอดีตมาก ขณะที่สัดส่วนหนี้ต่างประเทศก็ลดลงมาอยู่ที่ 38.2% ต่อจีดีพี ณ สิ้นปี 2564 รวมถึงทางการได้เข้ามาดูแลการเก็งกำไรในตลาดอสังหาฯ เป็นระยะผ่านมาตรการ อาทิ การกำหนดเกณฑ์ LTV ซึ่งภาพเหล่านี้สะท้อนการเรียนรู้บทเรียนจากอดีตและวางแนวทางเพื่อไม่ให้ซ้ำรอยเดิม อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่า เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันยังมีโจทย์ท้าทายที่ต่างจากในอดีตรออยู่ โดยต้นตอของปัญหามาจากโควิด-19 สงครามยูเครน-รัสเซียซึ่งกระทบราคาน้ำมัน รวมถึงการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ทำให้มีทั้งประเด็นเฉพาะหน้าและโจทย์เชิงโครงสร้างที่ต้องติดตาม
ทั้งนี้ โจทย์สำคัญของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันคือ การช่วยภาคครัวเรือนและธุรกิจรับมือกับปัญหาเฉพาะหน้า อาทิ เงินเฟ้อ ค่าครองชีพ/ต้นทุนสูง และดอกเบี้ยในประเทศที่กำลังจะขยับขึ้น พร้อมกับวางแนวทางรับมือโจทย์เชิงโครงสร้างทั้งระดับหนี้ที่สูงขึ้น การยกระดับทักษะแรงงาน การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และเร่งผลักดันการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นรวดเร็ว เช่นเดียวกันกับภาพของแบงก์ไทย ที่แม้จะแข็งแกร่งกว่าปี 2540 แต่ก็มีโจทย์ด้านการประคองความสามารถในการทำกำไร ดูแลปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพ และเร่งช่วยปรับโครงสร้างหนี้ในระยะยาวให้ลูกหนี้
Scan QR Code
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น