Display mode (Doesn't show in master page preview)

2 มีนาคม 2565

Econ Digest

รัสเซีย-ยูเครน กับค่าเงินไทย ผลทางตรงยังไม่มาก...แต่ผลทางอ้อมและความเสี่ยงยังสูง

คะแนนเฉลี่ย

​สถานการณ์ระหว่างรัสเซีย-ยูเครนตั้งแต่หลังวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นมา มีหลายประเด็นเกิดขึ้น ที่สำคัญที่สุดคงเป็นการเจรจาครั้งแรกที่เบลารุสระหว่างคณะผู้แทนรัสเซีย-ยูเครนเพื่อหาแนวทางคลี่คลายสถานการณ์ความขัดแย้ง อย่างไรก็ดีการเจรจารอบนี้เสร็จสิ้นลงโดยไม่มีการทำข้อตกลงใดๆ และตัวแทนทั้ง 2 ฝ่ายมีกำหนดการที่จะกลับมาเจรจากันอีกครั้งในวันที่ 2 มีนาคมนี้ อย่างไรก็ดีความเคลื่อนไหวของยูเครนในอีกด้านหนึ่งที่ดำเนินการไปพร้อมๆ กันก็คือ การลงนามในเอกสารเพื่อสมัครเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) ซึ่งอาจทำให้ความพยายามในการเจรจาเพื่อหาทางออกที่ดีของทั้ง 2 ฝ่ายยังมีความเป็นไปได้ที่ค่อนข้างน้อย ณ ขณะนี้

ในขณะที่ทางออกของปมการเมืองระหว่างประเทศยังไม่แน่นอน แต่สิ่งที่แน่นอนและเกิดขึ้นแล้วก็คือ ความปั่นป่วนอย่างหนักที่เกิดขึ้นกับระบบการเงินของรัสเซีย หลังมีการประกาศมาตรการคว่ำบาตร การแช่แข็งสินทรัพย์ต่างประเทศของรัสเซีย (โดยเฉพาะทุนสำรองระหว่างประเทศ) รวมถึงการประกาศตัดธนาคารพาณิชย์ของรัสเซียบางแห่งออกระบบ SWIFT โดยภาวะการขาดสภาพคล่องของเงินดอลลาร์ฯ เงินยูโร รวมถึงสกุลเงินตราต่างประเทศอื่นๆ ทวีความรุนแรงขึ้น สวนทางเงินรูเบิลที่ร่วงแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ จนทำให้ธนาคารกลางและทางการรัสเซียต้องประกาศหลายมาตรการเพื่อจำกัดความเสี่ยงของตลาดและระบบการเงินในภาพรวม อาทิ การขึ้นดอกเบี้ยรวดเดียวกว่าเท่าตัว (จากระดับ 9.5% ไปที่ 20%) และออกคำสั่งให้ผู้ส่งออกซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทในธุรกิจพลังงานนำ 80% ของรายได้ที่อยู่ในรูปเงินตราต่างประเทศออกมาขาย เพราะธนาคารกลางรัสเซียไม่สามารถนำทุนสำรองฯ มาแทรกแซงเพื่อพยุงค่าเงินรูเบิลได้ นอกจากนี้ยังมีมาตรการอื่นๆ เพื่อจำกัดการไหลออกของเงินทุนด้วยเช่นกัน อาทิ การห้ามบริษัทหลักทรัพย์รับคำสั่งขายสินทรัพย์ให้กับนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงการเตรียมใช้มาตรการควบคุมเงินทุนขาออก โดยห้ามปล่อยกู้และโอนเงินตราต่างประเทศออกนอกประเทศให้กับชาวรัสเซีย อย่างไรก็ดีมาตรการเหล่านี้ล้วนเป็นมาตรการเฉพาะหน้าที่อาจซื้อเวลาเพื่อช่วยประคองสถานการณ์เงินรูเบิลได้เพียงระยะหนึ่งเท่านั้น และยังมีโอกาสที่จะเห็นระดับอ่อนค่าเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่ของเงินรูเบิลในช่วงไม่กี่วันข้างหน้า

ย้อนกลับมาที่ค่าเงินบาทของไทย คงต้องระมัดระวังความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่จะผันผวนและมีแรงกดดันในด้านอ่อนค่ามากขึ้น ท่ามกลางแรงซื้อเงินดอลลลาร์ฯ ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในฐานะที่เป็นสกุลเงินปลอดภัยและมีสภาพคล่องสูงในยามที่สถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนยืดเยื้อและอาจเพิ่มระดับความเสี่ยงขึ้นได้อีกในอนาคต ทั้งนี้แม้การค้าระหว่างไทยและรัสเซีย (ส่งออก+นำเข้า) จะมีสัดส่วนเพียง 0.52% ของมูลค่าการค้าโดยรวมทั้งประเทศ แต่คงต้องยอมรับว่า ประเด็นที่ต้องเน้นย้ำและใช้ความระมัดระวังมากขึ้น ก็คือ ความเสี่ยงจากคู่ค้าและความเสี่ยงจากระบบปฏิบัติการ รวมถึงโอกาสที่จะเกิดความล่าช้าในกระบวนการชำระเงิน ซึ่งผู้ประกอบการและสถาบันการเงินของไทยต้องเตรียมรับมือ โดยในช่วงหลังจากนี้ คงต้องรอติดตามว่า การตัดรัสเซียออกจากระบบ SWIFT จะออกมาในลักษณะและมีเงื่อนไขแบบใด อาทิ

1)    มีการจำกัดการเข้าถึงระบบ SWIFT เฉพาะสถาบันการเงินบางแห่งในรัสเซีย หรือจำกัดเฉพาะการทำธุรกรรมในบางสกุลเงิน สถาบันการเงินในไทยก็จะยังคงสามารถทำธุรกรรมกับสถาบันการเงินรัสเซียที่ยังอยู่ในระบบ SWIFT หรือปรับเป็นการทำธุรกรรมในสกุลเงินอื่นๆ ได้ เพื่อให้บริการลูกค้าต่อได้

2)    มีการจำกัดการเข้าถึงระบบ SWIFT กับสถาบันการเงินในรัสเซียทั้งหมด ก็จะทำให้ต้องหาทางเลือกการโอนเงินผ่านระบบอื่นๆ ซึ่งในกรณีนี้ก็จะขึ้นอยู่กับว่าสถาบันการเงินในไทยเป็นสมาชิกของระบบอื่นหรือไม่ และจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยในกระบวนการทำธุรกรรมด้วยเช่นกัน

สุดท้ายนี้ ในช่วงที่สถานการณ์ยังไม่นิ่งและยังไม่สามารถประเมินทางออกของเรื่องนี้ได้ในระยะเวลาอันสั้น คาดว่า นักลงทุนคงกลับมาประเมินความเสี่ยงและผลกระทบทางอ้อมที่อาจเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจและตลาดการเงินของสหภาพยุโรปอย่างใกล้ชิด เพราะ EU มีความเชื่อมโยงในภาคการเงินกับรัสเซียสูง โดยเฉพาะในภาคธนาคาร ทั้งนี้ ข้อมูล ณ ไตรมาส 3/2564 จากธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ สะท้อนว่า ธนาคารของประเทศสมาชิก EU ที่มีสิทธิเรียกร้อง (Claims) จากคู่สัญญาในรัสเซียรวมกันเป็นมูลค่าสูงถึง 83,840 ล้านดอลลาร์ฯ หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 69% ของสิทธิเรียกร้องของธนาคารต่างประเทศทั้งหมด โดยหลักๆ แล้วเป็นธนาคารในอิตาลี (20.8%) ฝรั่งเศส (20.7%) และออสเตรีย (14.4%) ตามลำดับ   

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest