Display mode (Doesn't show in master page preview)

18 มิถุนายน 2564

Econ Digest

โควิด-19...พลิกซัพพลายเชนโลก คาดเงินทุนไหลเข้าไทยเพิ่ม 1.1-14 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

คะแนนเฉลี่ย


การระบาดของโควิดทั่วโลกและกระแสสงครามการค้าและเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่รุนแรงขึ้น ส่งผลให้บริษัทข้ามชาติในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ตระหนักถึงความเปราะบางของซัพพลายเชนโลกและหันมากระจายความเสี่ยงออกจากจีน  เทรนด์โลกหลังโควิดจะทำให้เกิดกระแส Reshoring ซึ่งหมายถึงการที่เจ้าของเทคโนโลยีขั้นสูงย้ายฐานโรงงานกลับประเทศเพื่อผลิตสินค้านวัตกรรม และกระแส Diversification ซึ่งหมายถึงการสร้างฐานการผลิตและซัพพลายเชนใหม่สำหรับการผลิตสินค้ากระแสหลัก เพื่อกระจายความเสี่ยงในกรณีฉุกเฉิน 

 สำหรับประเทศไทย น่าจะได้อานิสงส์จากกระแส Diversification ในฐานะหนึ่งในทางเลือกสำหรับการสร้างฐานการผลิตใหม่ โดยในการเลือกฐานการผลิตใหม่ บริษัทข้ามชาติยังต้องพิจารณาถึง (1) ขนาดของตลาดในประเทศที่ลงทุน (2) การเข้าถึงตลาดในประเทศที่สาม ในกรณีที่ผลิตเพื่อส่งออก เพื่ออาศัยความได้เปรียบของข้อตกลงทางการค้ากับตลาดหลัก ๆ ของโลกดึงดูดเม็ดเงินลงทุน (3) ต้นทุนในการผลิต รวมถึงต้นทุนแรงงาน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบทั้งสามปัจจัยแล้ว ไทยไม่สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งในอาเซียนได้ อย่างไรก็ตาม ไทยยังมีจุดแข็งในด้านสิทธิประโยชน์ทางภาษีในการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง โครงสร้างพื้นฐ​านที่ครบครัน และซัพพลายเชนที่ครบวงจรในอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในบางประเภทสินค้า จึงทำให้นักลงทุนต่างชาติบางส่วนยังคงเลือกประเทศไทยเป็นฐานการผลิตในภูมิภาคอาเซียน 

 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า จากการปรับเปลี่ยนซัพพลายเชนจากห่วงโซ่การผลิตที่มีจีนเป็นศูนย์กลาง มาเป็นห่วงโซ่การผลิตในระดับภูมิภาคกระจายทั่วโลก  จะมีเม็ดเงินลงทุนต่างชาติไหลเข้าไทยเพิ่มขึ้นราว 1,100 – 1,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในช่วงปี 2564-2566 หรือเพิ่มขึ้น 0.7-0.8% จากช่วงปี 2561-2563 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมต่อยอดที่ไทยมีซัพพลายเชนครบวงจรอยู่แล้ว โดยในระยะยาว ประเทศไทยยังต้องเผชิญความท้าทายในการรักษาเม็ดเงินลงทุนต่างชาติและโอกาสในการดึงดูดเงินลงทุนต่างชาติในเทคโนโลยีขั้นสูงที่มีแนวโน้มลดลง   ทางออกที่ยั่งยืนของไทยจึงอยู่ที่การมีเทคโนโลยีขั้นสูงเป็นของตัวเอง การพัฒนาความสามารถในการสร้างนวัตกรรม และการยกระดับศักยภาพของประชากรไทยในอนาคต



Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest