Display mode (Doesn't show in master page preview)

23 เมษายน 2564

Econ Digest

อีกไม่ถึง10 ปี รถยนต์ไฟฟ้าในไทย จะครองสัดส่วนยอดขาย เกินครึ่ง

คะแนนเฉลี่ย

ยอดจดทะเบียนรถยนต์ xEV ของไทยในช่วงสองเดือนแรกของปี 2564 มีจำนวน  9,164 คัน ขยายตัว 42.6% (Y-o-Y) ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า  หากไทยสามารถควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ จะช่วยดันยอดขายรถยนต์กลุ่มนี้ให้ขยายตัวในอัตราเร่ง ภายใต้การรุกตลาด xEV รุ่นระดับราคาไม่เกิน 1 ล้านบาทของค่ายรถยนต์  มองไปข้างหน้าไม่เกิน 10 ปี ยอดขายรถยนต์ xEV ในไทยอาจแซงหน้าเจ้าตลาดเดิมอย่างรถยนต์ ICE (รถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน)   โดยมีปัจจัยส่งเสริมคือแผนการลงทุนของค่ายรถ รวมถึงแรงสนับสนุนของภาครัฐและเอกชน  

ในส่วนของยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศในปี 2564 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ยอดขายรถยนต์  HEV และ PHEV  จะอยู่ที่ราว 48,000- 50,000 คัน ขยายตัว 63-70% จากการผลักดันให้เป็นโมเดลมาตรฐานสำหรับรถยนต์ในหลายรุ่น เพื่อเตรียมก้าวสู่เทคโนโลยีการขับเคลื่อนรูปแบบใหม่อย่างสมบูรณ์ในอนาคต ขณะที่รถยนต์ BEV มีแนวโน้มเติบโตก้าวกระโดดหลังรถยนต์ BEV ราคาที่จับต้องได้จากจีนเริ่มบุกตลาดมากขึ้นในปีนี้  ส่งผลให้ตลาดขยายตัวและมีการรับรู้เพิ่มขึ้น คาดว่ายอดขายน่าจะแตะ 4,000-5,000 คัน  หรือขยายตัว  210-288% โดยมีปัจจัยสนับสนุนคือ ความเชื่อมั่นว่าเครือข่ายสถานีชาร์จไฟฟ้าจะครอบคลุมความต้องการ  ซึ่งเป็นเหตุผลประการหนึ่งที่กระตุ้นการตัดสินใจซื้อรถยนต์ BEV ของผู้บริโภค   

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า เมื่อผนวกรวมการส่งออกรถยนต์ xEV ที่อาจเพิ่มสูงขึ้นจากการผลิตเพื่อส่งออก  โดยเฉพาะรถยนต์ HEV และ PHEV  ปริมาณการผลิตรถยนต์กลุ่ม xEV ของไทยในปี 2564 น่าจะมีจำนวนราว 72,000- 80,000 คัน หรือขยายตัว  60-78% จากประมาณการผลิตในปี 2563 ซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ 45,000 คัน ภายใต้กรณีที่ภาวะเศรษฐกิจไม่ชะลอลงกว่าที่คาดและไม่มีการออกมาตรการกระตุ้นตลาดอื่นๆ  คาดว่าในปี 2573 สัดส่วนยอดขายรถยนต์กลุ่ม xEV อาจเพิ่มขึ้นแตะระดับ 55% ของปริมาณยอดขายรถยนต์รวม ขณะที่การผลิตรถยนต์ xEV ของไทยมีโอกาสขยับส่วนแบ่งขึ้นไปสูงกว่า 50%    โดยสัดส่วนการส่งออกรถยนต์ xEV คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ  47%  ของปริมาณการส่งออกรถยนต์ทั้งหมดของไทย 


Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest