Display mode (Doesn't show in master page preview)

5 พฤษภาคม 2563

การปรับตัวของธุรกิจร้านอาหารเข้าสู่มาตรฐานใหม่ … คาดปี 2563 พลิกกลับมาหดตัวครั้งแรกในรอบ 8 ปี (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3105)

คะแนนเฉลี่ย

​              จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มีทิศทางที่ผ่อนคลายลง สะท้อนให้เห็นจากจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ในไทยที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ภาครัฐประกาศผ่อนปรนมาตรการในบางพื้นที่เพื่อให้ธุรกิจบางประเภทกลับมาเปิดบริการได้อีกครั้ง ซึ่งหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับการผ่อนปรนให้มีการเปิดทำการเป็นกลุ่มแรกในวันที่ 3 พฤษภาคม 2563 ได้แก่ ร้านอาหารที่ไม่ได้ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า อาทิ ร้านอาหารทั่วไป ร้านอาหารริมทาง รถเข็น รวมถึงสวนอาหารต่างๆ เป็นต้น

            อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการร้านอาหารเองยังต้องเจอโจทย์ที่ท้าทายที่ต้องปรับตัวในระยะข้างหน้า เนื่องจากผู้บริโภคระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น ซึ่งน่าจะส่งผลให้ไม่เพียงแต่จำนวนผู้บริการเฉลี่ยต่อวันที่ลดลง แต่คาดว่ามูลค่าการใช้บริการต่อมื้อของผู้บริโภคก็น่าจะมีการหดตัวอีกด้วย ทำให้เกิดผลกระทบต่อรายได้ของผู้ประกอบการ ขณะที่ต้นทุนการประกอบธุรกิจเพิ่มขึ้น โดยสามารถแบ่งออกเป็น

  • กลุ่มที่น่าจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง คือ ร้านอาหารเต็มรูปแบบ (Full Service Restaurant) ร้านอาหารที่มีบริการจำกัด ที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้าและสถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหารประเภทบุฟเฟต์ และสวนอาหารประเภทต่างๆ เนื่องจากร้านอาหารเหล่านี้ยังมีแนวโน้มเผชิญความท้าทายสูงทั้งในฝั่งของรายได้และค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้นทุนคงที่ซึ่งเป็นรายจ่ายประจำที่อาจมีสัดส่วนสูงถึง 30-40% ของรายได้ในร้านอาหารบางชนิด ส่งผลให้ผู้ประกอบการในกลุ่มนี้จำเป็นต้อง 1. กระจายช่องทางการสร้างรายได้ ให้ครอบคลุมไปยังกลุ่มลูกค้าในช่องทางอื่นมากยิ่งขึ้น 2.ปรับกระบวนการและรูปแบบธุรกิจให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคและสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป
  • กลุ่มที่น่าจะได้รับผลกระทบอย่างจำกัด ได้แก่ ร้านอาหารทั่วไป ร้านอาหารริมทาง และรถเข็นต่างๆ เนื่องจากเป็นร้านอาหารกลุ่มแรกที่ได้รับประโยชน์จากการผ่อนปรนมาตรการจากภาครัฐ รวมถึงมีการหันมากระจายแหล่งรายได้ในช่วงก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของไวรัส อย่างไรก็ดี เนื่องจากระบบและกระบวนการต่างๆ ไม่ได้มีการสร้างขึ้นอย่างเป็นมาตรฐาน ทำให้ผู้ประกอบการยังจำเป็นต้องปรับตัว อาทิ 1. ยกระดับมาตรฐานความสะอาดของร้านอาหารเพื่อดึงดูดให้ผู้บริโภคเข้ามาใช้บริการ และลดความกังวลของผู้บริโภค ทั้งในเรื่องของความสะอาดของวัตถุดิบ บรรจุภัณฑ์ รวมถึงพนักงานและผู้ประกอบอาหารอีกด้วย 2. เพิ่มความระมัดระวังในการบริหารจัดการวัตถุดิบและสินค้าคงคลัง รวมถึงการปรับลดความหลากหลายของเมนู

              ​ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงคาดว่าภายใต้สมมติฐานที่ไม่มีการระบาดระลอกใหม่ในช่วงที่เหลือของปีนี้ รายได้ของธุรกิจร้านอาหารในช่วงที่เหลือของปีนี้น่าจะยังหดตัวต่อเนื่อง และทำให้ทั้งปี 2563 มีมูลค่าเหลือเพียง 3.85-3.89 แสนล้านบาท หรือหดตัว 9.7%-10.6% จากปีที่ผ่านมา และถือเป็นการพลิกกลับมาหดตัวครั้งแรกในรอบ 8 ปี นอกจากนี้ จากสภาพแวดล้อมของธุรกิจที่เปลี่ยนไป ทำให้ผู้ประกอบการร้านอาหารทุกประเภทจำเป็นต้องเร่งปรับตัวสู่บรรทัดฐานใหม่ในการทำธุรกิจ (New Normal) เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป


ดูรายละเอียดฉบับเต็ม