Display mode (Doesn't show in master page preview)

2 พฤศจิกายน 2563

การค้า

สหรัฐฯ เดินเกมตัดสิทธิ GSP ไทย 2 ครั้งในปี’ 63 … อีกปัจจัยท้าทายการส่งออกไทยไปสหรัฐฯ ปี’ 64 (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3157)

คะแนนเฉลี่ย

​​เป็นที่แน่ชัดว่าไทยกำลังสูญเสียแต้มต่อทางภาษีไปเรื่อยๆ ในการทำตลาดสหรัฐฯ  โดยในปี 2563 ไทยถูกตัดสิทธิ GSP ถึง 2 ครั้ง รวมเป็นมูลค่า 2,200 ล้านดอลลาร์ฯ คิดเป็นร้อยละ 45 ของมูลค่าส่งออกที่ใช้สิทธิ GSP (การส่งออกของไทยที่ใช้สิทธิ GSP ภาพรวมในปี 2562 มีมูลค่า 4,817 ล้านดอลลาร์ฯ) อย่างไรก็ดี หากมองกันตามจริงแล้วยังเหลือสินค้าอีกครึ่งหนึ่งหรือจำนวน 644 รายการที่ยังได้รับสิทธิ GSP อยู่ และเป็นสินค้าสำคัญที่มีมูลค่าส่งออกค่อนข้างสูง แต่สิทธิเหล่านี้ขึ้นอยู่กับผู้ให้สิทธิอย่างสหรัฐฯ ดังนั้นการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้สินค้าไทยมีความโดดเด่นเหนือคู่แข่ง เพื่อให้ผู้นำเข้าสหรัฐฯ ต้องการสินค้าไทยเป็นหัวใจสำคัญที่รัฐบาลและผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องเร่งปรับตัวอย่างต่อเนื่อง

จะเห็นได้ว่าการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ในปี 2563 เผชิญความท้าทายอย่างมาก ทั้งจากผลพวงของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ยังหลงเหลืออยู่ บวกกับกำลังซื้อที่อ่อนแรงตามแรงฉุดของโควิด-19 อีกทั้งปัจจัยจากการตัดสิทธิ GSP ในรอบแรกเมื่อเดือนเมษายน 2563 ที่ผ่านมา แต่ ศูนย์วิจัยกสิกไทย มองว่า การส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ในปีนี้ได้แรงหนุนด้วยปัจจัยเฉพาะจากการส่งกลับสินค้าเพื่อการซ้อมรบเป็นหลัก รวมทั้งอานิสงส์ของความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์เพื่อกิจกรรม Work From Home (WFH) ช่วยขับเคลื่อนการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ในปี 2563 ให้มีโอกาสเติบโตได้ที่ร้อยละ 6.4 มีมูลค่าส่งออกราว 33,300 ล้านดอลลาร์ฯ

ขณะที่ปัจจัยหลักที่มีผลต่อการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ในปี 2564 คือทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ขึ้นอยู่กับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของว่าที่ผู้นำคนใหม่ของสหรัฐฯ มากกว่า ซึ่งการตัดสิทธิ GSP ในรอบที่ 2 ที่ทำให้สินค้าไทยต้องกลับไปเสียภาษีนำเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ ในอัตราปกติ โดยจะมีผลตั้งแต่มกราคม 2564 ไม่น่าจะกระทบต่อการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ในภาพรวม โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงคาดว่าการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ในปี 2564 จะยังคงเติบโตได้ในกรอบที่ร้อยละ 10-12 ด้วยมูลค่าส่งออกราว 36,700-37,300 ล้านดอลลาร์ฯ ภายใต้การนำของนายโจ ไบเดน แห่งพรรคเดโมแครต แต่ถ้านายโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งพรรครีพับลิกันได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในสมัยที่ 2 การส่งออกของไทยก็น่าจะยังคงเติบโตได้ใกล้เคียงร้อยละ 5.0 ด้วยมูลค่าส่งออกราว 35,000 ล้านดอลลาร์ฯ โดยสินค้าส่วนใหญ่ของไทยน่าจะเติบโตได้แต่สินค้าฟุ่มเฟือยที่ยังไม่จำเป็นต่อการบริโภคอาจเติบโตล่าช้า อย่างไรก็ดี ผู้ส่งออกของไทยคงต้องแบกรับภาระภาษีนำเข้าที่เพิ่มขึ้นจากการตัดสิทธิ GSP โดยเฉพาะสินค้าที่ต้องแข่งขันรุนแรงกับคู่แข่งในอาเซียน อาทิ ที่นอนทำด้วยาง/พลาสติก เพลาขับสำหรับรถยนต์นั่ง ส่วนประกอบเฟอร์นิเจอร์ พลาสติกที่ทำจากเอทิลีน/โพรพิลีน และท่อและวาล์ว

นอกจากนี้ ผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ เป็นสิ่งที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดเพราะจะมีผลต่อทิศทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และนโยบายการค้ากับไทยให้เปลี่ยนภาพไปหากว่าที่ผู้นำสหรัฐฯ เปลี่ยนมือไปเป็นนายโจ ไบเดน แต่ถ้าหากนายโดนัลด์ ทรัมป์ยังคงเป็นผู้นำในสมัยที่ 2 ก็คงทำให้การค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ เปราะบางต่อเนื่องจากปัจจุบัน โดยน่าจะมีการเดินหน้าใช้มาตรการกีดกันทางการค้าในรูปแบบต่างๆ เพิ่มขึ้นไม่ว่าจะเป็นมาตรการ AD/CVD มาตรการ Safeguard ตลอดจนการเดินหน้าทำสงครามการค้ากับจีนที่ส่งผลต่อการส่งออกของไทยทางอ้อม รวมทั้งอาจตัดสิทธิ GSP ที่ให้กับไทยเพิ่มขึ้นอีกในระยะข้างหน้า


Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

การค้า