Display mode (Doesn't show in master page preview)

21 พฤศจิกายน 2550

ตลาดการเงิน

หลากหลายปัจจัยลบกดดันเงินดอลลาร์ฯ ... โจทย์ท้าทายสำหรับทางการไทย (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2074)

คะแนนเฉลี่ย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีมุมมองว่า แนวโน้มการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ฯ เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ จากหลากหลายปัจจัยลบนอกเหนือไปจากปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูงของสหรัฐฯ โดยปัจจัยที่อาจกดดันเงินดอลลาร์ฯ ประกอบด้วย ปัญหาสินเชื่อซับไพร์มและวิกฤตสภาพคล่องในตลาดการเงินที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับแนวโน้มความซบเซาต่อเนื่องของตลาดอสังหาริมทรัพย์สหรัฐฯ ที่อาจส่งผลทำให้เกิดการชะลอตัวทางเศรษฐกิจออกเป็นวงกว้างในท้ายที่สุด พฤติกรรมหลีกเลี่ยงความเสี่ยงและการระบายธุรกรรม Carry Trade ของนักลงทุน แนวโน้มการปรับลดสัดส่วนการถือครองสินทรัพย์สกุลเงินดอลลาร์ฯ ในทุนสำรองระหว่างประเทศ และความเป็นไปได้ที่จะมีการยกเลิกระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบผูกติดกับเงินดอลลาร์ฯ ของประเทศในอ่าวเปอร์เชีย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีมุมมองว่า กระแสการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯ จากปัจจัยลบดังกล่าวข้างต้นมีแนวโน้มที่จะดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่อง และอาจสร้างแรงกดดันให้ค่าเงินสกุลหลักตลอดจนสกุลเงินในภูมิภาคซึ่งรวมถึงเงินบาท ต้องปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งถือเป็นผลกระทบทางตรงที่เกิดขึ้นกับภาคส่งออกของไทย และเป็นโจทย์ที่มีความท้าทายในการรักษาเสถียรภาพให้กับตลาดอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับความสามารถในการแข่งขันของภาคส่งออกของไทย นอกจากนี้ การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯ ยังส่งผลข้างเคียงให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกทะยานขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการโยกย้ายเงินลงทุนของนักลงทุนออกจากสินทรัพย์สกุลเงินดอลลาร์ฯ เข้าสู่ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะน้ำมัน ซึ่งการเพิ่มขึ้นของต้นทุนทางด้านพลังงานได้ส่งผลกระทบทางอ้อมต่อเศรษฐกิจไทย ผ่านต้นทุนการผลิต ค่าขนส่ง ตลอดจนค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นการรับมือกับการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ฯ จึงเป็นความท้าทายที่สำคัญของเป้าหมายการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจโดยรวมของทางการไทย

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน