Display mode (Doesn't show in master page preview)

7 ธันวาคม 2550

ตลาดการเงิน

การประชุม FOMC 11 ธ.ค. ... เฟดอาจปรับลดดอกเบี้ยลงอีกอย่างน้อยร้อยละ 0.25 (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2084)

คะแนนเฉลี่ย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด อาจจะมีมติให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ลงอีกอย่างน้อยร้อยละ 0.25 ในการประชุมรอบสุดท้ายของปีในวันที่ 11 ธันวาคม 2550 เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจสหรัฐฯ และบรรเทาผลกระทบจากปัญหาสินเชื่อจำนองของลูกหนี้ที่มีความน่าเชื่อถือต่ำ (ซับไพร์ม) ที่อาจจะมีต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภค ในขณะที่ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อยังคงอยู่ภายในกรอบที่เฟดบริหารจัดการได้ โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ย Fed Funds คาดว่าอาจจะเกิดขึ้นควบคู่ไปกับการใช้นโยบายการเงินผ่านเครื่องมืออื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ย Discount Rate และการอัดฉีดสภาพคล่อง ตลอดจนแผนการช่วยเหลือเจ้าของบ้านสหรัฐฯในระยะถัดๆ ไปของทางการสหรัฐฯ

สำหรับแนวโน้มในปี 2551 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อน่าจะยังไม่ใช่ประเด็นที่น่าวิตกกังวลจนมีผลทำให้เฟดต้องปรับเปลี่ยนวัฏจักรอัตราดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น ถึงแม้ว่าราคาน้ำมันตลาดโลกอาจยังมีแนวโน้มที่จะทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง เนื่องจากแรงกดดันเงินเฟ้อที่อาจเพิ่มขึ้นจากการเร่งตัวขึ้นของราคาน้ำมันน่าจะถูกหักล้างด้วยแนวโน้มการชะลอตัวของการใช้จ่ายของผู้บริโภคและเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในขณะที่ ปัญหาซับไพร์มน่าจะยังมีอิทธิพลและเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้เฟดจำต้องดำเนินโยบายอัตราดอกเบี้ยในลักษณะที่ผ่อนคลายลงอีก อย่างไรก็ตาม ขนาดการปรับลดอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ของเฟดในปี 2551 คงจะขึ้นอยู่กับความเสียหายของปัญหาซับไพร์มว่าจะแผ่ขยายไปสู่ภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงหรือการใช้จ่ายของผู้บริโภคสหรัฐฯมากน้อยและยาวนานเพียงใด รวมทั้งประสิทธิผลของนโยบายการเงินและมาตรการการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาซับไพร์มทั้งจากทางการสหรัฐฯและเฟดด้วย ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในกรณีที่เศรษฐกิจสหรัฐฯสามารถรอดพ้นจากภาวะถดถอย (Recession) หรือไม่ได้ชะลอตัวลงอย่างรุนแรง อัตราดอกเบี้ย Fed Funds ของสหรัฐฯ อาจจะปิด ณ ปลายปี 2551 ที่ร้อยละ 3.00-4.00 เทียบกับร้อยละ 4.00-4.25 ณ ปลายปี 2550 ซึ่งยังคงต้องติดตามเครื่องชี้ในตลาดแรงงานและภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯอย่างใกล้ชิดต่อไป

ส่วนผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยนั้น การส่งออกสินค้าไทยไปยังสหรัฐฯ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 15.5 ของจีดีพีของไทย คงไม่อาจหลีกเลี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในขณะที่ เงินดอลลาร์สหรัฐฯที่ยังมีแนวโน้มตกอยู่ภายใต้แรงกดดันจากแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯและการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟด ก็น่าจะเป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้เงินบาทยังมีแนวโน้มปรับตัวแข็งค่าขึ้น เช่นเดียวกับเงินสกุลหลักอื่นๆ อย่างไรก็ตาม เป็นที่คาดหวังกันว่า การฟื้นตัวของการใช้จ่ายภายในประเทศ ทั้งการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปของไทยในช่วงปลายปี 2550 น่าจะเป็นปัจจัยที่มาชดเชยการชะลอตัวของการส่งออกและช่วยจำกัดการแข็งค่าของเงินบาทในปี 2551

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน