Display mode (Doesn't show in master page preview)

20 ธันวาคม 2550

ตลาดการเงิน

Sovereign Wealth Funds ...ปัจจัยจุดกระแสชาตินิยมในตลาดทุนโลก (กระแสทรรศน์ฉบับที่ 2014)

คะแนนเฉลี่ย

Sovereign Funds หรือ SWFs หมายถึง กองทุนเพื่อการลงทุนของรัฐบาลที่ทำหน้าที่บริหารจัดการเงิน ทุนสำรองของประเทศ ซึ่งเป็นส่วนที่แยกจากส่วนของทุนสำรองที่บริหารจัดการโดยธนาคารกลาง หรือหน่วยงานของกระทรวงการคลัง โดยนำไปลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทต่างๆ ซึ่งมีความเสี่ยงและอัตราผลตอบแทนที่คาดหวังสูงกว่าการบริหารเงินทุนสำรองแบบดั้งเดิม SWFs มีการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในหลายปีที่ผ่านมา โดย IMF คาดว่า ณ.ปัจจุบัน กองทุนเหล่านี้น่าจะมีมูลค่าประมาณ 2-3 ล้านล้านดอลลาร์ฯ เมื่อเทียบกับขนาดสินทรัพย์ของกองทุนภายใต้การบริหารจัดการที่ประมาณ 500 ล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2533 ซึ่งสัดส่วนดังกล่าวถือเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของเงินทุนสำรองของประเทศต่างๆในโลกที่ประมาณ 6.5 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ขณะที่ คาดว่าในปัจจุบันน่าจะมีจำนวน SWFs อยู่ประมาณ 30 กองทุน โดยปัจจัยหลักที่สนับสนุนการขยายตัวของ SWFs ในช่วงที่ผ่านมา สามารถแบ่งได้เป็น 2 ปัจจัย ประการแรก ได้แก่ การปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลก และปัจจัยที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ได้แก่ ความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลก จากการที่ประเทศสหรัฐฯมีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง ขณะที่มีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูงอย่างต่อเนื่องในหลายๆภูมิภาค เช่น เอเชีย และตะวันออกกลางซึ่งส่งผลให้จำนวนเงินทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของประเทศเหล่านั้นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมากเกินความจำเป็น ขณะที่แนวโน้มการอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องของเงินดอลลาร์ฯเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลหลักได้ลดความน่าสนใจของธนาคารกลางประเทศต่างๆในการที่จะถือครองเงินดอลลาร์ฯ และหันไปเพิ่มสัดส่วนในเงินสกุลอื่นมากขึ้น และสินทรัพย์รูปแบบอื่นๆที่มีอัตราผลตอบแทนสูงขึ้น รวมถึง การจัดสรรเงินสำรองบางส่วนออกมาบริหารในรูปของ SWFs ทั้งนี้ ในปัจจุบัน SWFs ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ได้แก่ ADIA ของประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ รองลงมา ได้แก่ GIC ของประเทศสิงคโปร์ อันดับสาม ได้แก่ GPF ของประเทศนอร์เวย์ ทั้งนี้ จากการรวบรวมข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่า เมื่อเทียบขนาดของ SWFs ที่ได้รวบรวม 24 กอง กับขนาดของจีดีพี มูลค่าเงินทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ และมูลค่าหลักทรัพย์ ณ.ราคาตลาด แล้วพบว่า SWFs มีสัดส่วนที่สูงกว่าหลายเท่าตัว

เมื่อพิจารณาขนาดของกองทุน SWFs ที่มีมูลค่ามหาศาลในปัจจุบันและมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างต่อ เนื่องในอนาคต ประกอบกับการที่ข้อมูลของ SWFs หลายกองนั้นไม่เป็นที่เปิดเผยต่อสาธารณชนทำให้ประเทศมหาอำนาจต่างๆในโลกตะวันตก ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนนโยบายการเปิดเสรีการค้าการลงทุน เริ่มมีท่าทีที่เปลี่ยนแปลงไปต่อการเติบโตและการลงทุนของ SWFs จากความกังวลว่าอุตสาหกรรมอันเป็นยุทธศาสตร์ของประเทศตนอาจจะตกเป็นของรัฐบาลต่างชาติ โดยในการประชุม G7 ในเดือน ตุลาคม ที่ผ่านมา ประเทศสมาชิกได้เรียกร้องให้ IMF และธนาคารโลกวางหลักเกณฑ์แนวทางกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับ SWFs ให้เป็นไปอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ และเป็นไปโดยวัตถุประสงค์เพื่อการลงทุนอย่างเดียวโดยไม่มีเจตนาทางการเมืองแอบแฝง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ขนาดของ SWFs มีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดย IMF คาดว่ามูลค่าของ SWFs จะทะยานขึ้นสู่ 10 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ส่วน Morgan Stanley คาดว่าจะอยู่ที่ 12 ล้านล้านดอลลาร์ฯในปี 2558 ทั้งนี้ มองว่าการขยายตัวของกองทุนเหล่านี้จะยังคงดำเนินต่อไปหากความไม่สมดุลในระบบเศรษฐกิจโลกยังคงอยู่ ได้แก่ การที่สหรัฐฯยังคงมียอดขาดดุลบัญชีเดินพัดในระดับสูง ขณะที่หลายประเทศในเอเชียและในตะวันออกกลางมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง และแนวโน้มที่เงินดอลลาร์ฯจะยังคงอ่อนค่าลง แนวโน้มอีกประการหนึ่ง ได้แก่ การที่คาดว่า SWFs จะหันไปลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นเพื่อแสวงหาอัตราผลตอบแทนที่สูงขึ้น พร้อมกับลดสัดส่วนการถือครองสินทรัพย์ในรูปสกุลดอลลาร์ฯที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลงไปยังสกุลเงินอื่นๆ ทั้งนี้ เม็ดเงินลงทุนจำนวนมหาศาลของ SWFs และความต้องการเพิ่มผลตอบแทนการลงทุนของกองทุนจะส่งผลให้ SWFs เข้ามามีบทบาทในตลาดทุนโลกมากขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ประเทศมหาอำนาจในซีกโลกตะวันตก เช่น สหรัฐฯ อังกฤษ และประเทศในยุโรป กำลังประสบปัญหาขาดแคลนสภาพคล่องทางการเงินเนื่องจากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า บทบาทที่เพิ่มขึ้นของ SWFs ในอนาคตจะยิ่งเป็นการกระตุ้นแนวคิดในการปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศจากกลุ่มประเทศในโลกตะ วันตกมากขึ้น โดยประเทศเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะเพิ่มความเข้มงวดของกฎเกณฑ์ในการพิจารณาตรวจสอบการลงทุนของต่างชาติในการซื้อกิจการในประเทศ โดยเฉพาะเม็ดเงินที่มาจาก SWFs ซึ่งประสงค์จะเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมอันจะกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ หรือกระทบต่อวัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อตรวจสอบว่าวัตถุประสงค์ในการลงทุนเป็นไม่ได้มีเหตุผลทางการเมืองแอบแฝงอยู่ แม้ว่าอิทธิพลของ SWFs ในตลาดทุนโลกจะเพิ่มขึ้น แต่ข้อมูลเกี่ยวกับ SWFs บางแห่งกลับเป็นสิ่งที่หายาก นำไปสู่ข้อเรียกร้องของประเทศมหาอำนาจต่างๆในการให้ SWFs มีการเปิดเผยข้อมูลต่างๆของตนมากขึ้น รวมไปถึง แรงกดดันที่เพิ่มขึ้นในเวทีการประชุมระดับโลกต่างๆ ให้มีการวางแนวทางปฎิบัติที่เป็นสากลของ SWFs ในขณะที่ประเทศซึ่งเป็นเจ้าของ SWFs หลายราย เช่น กลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง รัสเซียและจีนย่อมไม่ต้องการและมองไม่เห็นความจำเป็นที่จะเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับกองทุนของตน ท้ายที่สุดแล้วความเห็นที่ไม่สอดคล้องกันดังกล่าวย่อมจะส่งผลให้การเข้าซื้อหุ้นของ SWFs ในบริษัทขนาดใหญ่ในบางอุตสาหกรรมมีแนวโน้มที่จะเผชิญกับความยากลำบากเพิ่มขึ้นในอนาคตและจะส่งผลกระทบต่อการระดมเงินลงทุนของภาคเอกชนที่ขาดแคลนสภาพคล่องได้ ข้อสังเกตอีกประการ ได้แก่ แนวโน้มการเข้าซื้อหุ้นโดยตรงของ SWFs ในบางอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะเผชิญกับความยากลำบากเพิ่มขึ้นในอนาคต อาจทำให้ SWFs มีการแสวงหาช่องทางลงทุนโดยอ้อมผ่านทางตราสารการเงินรูปแบบอื่นๆมากขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนการขยายตัวทางธุรกิจของวาณิชธนกิจขนาดใหญ่ที่ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาการลงทุน รวมถึงธุรกิจการจัดการกองทุนซึ่งคาดว่าจะได้รับรายได้เพิ่มขึ้นจากการที่ SWFs บางแห่งจะมีการกระจายเงินสำรองให้บริหารมากขึ้น

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน