Display mode (Doesn't show in master page preview)

28 ธันวาคม 2550

ตลาดการเงิน

กองทุนรวมปี 2551… หลากปัจจัยหนุนท่ามกลางความผันผวนของตลาดทุนไทย (กระแสทรรศน์ฉบับที่ 2021)

คะแนนเฉลี่ย

ธุรกิจกองทุนรวมในปี 2550 ยังคงมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของ

กองทุนรวมทั่วไป (ไม่รวมกองทุนเพื่อแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินและกองทุนที่ระดมทุนจากต่างประเทศ) จนถึงวันที่ 21 ธันวาคม ที่ผ่านมา มีการขยายตัวถึงร้อยละ 33.6 จากสิ้นปีก่อนหน้า จาก 1,040,478.2 ล้านบาท มาอยู่ที่ 1,389,763.8 ล้านบาท โดย กองทุนรวมหน่วยลงทุนมีอัตราการขยายตัวมากที่สุดถึงร้อยละ 141.8 สืบเนื่องจากการขยายตัวของกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF) รองลงมาได้แก่ ตามมาด้วย กองทุนรวมตราสารหนี้ ซึ่งขยายตัวร้อยละ 45.3 และกองทุนรวมตราสารทุนซึ่งขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 45.1 จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของดัชนีตลาดหุ้นในปีนี้และการเติบโตของกองทุนรวมหุ้นระยะยาว กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ซึ่งขยายตัวร้อยละ 26.75 โดยมีจำนวนกองทุนจดทะเบียนใหม่ 3 กอง ขณะที่มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของ กองทุนรวมผสม ปรับตัวลดลงร้อยละ 4.9 เป็นที่สังเกตได้ว่ากองทุนทีมีการขยายตัวมากที่สุดในปีนี้ อันได้แก่ กองทุนรวมหน่วยลงทุน อันเป็นผลจากการที่มีการจัดตั้งกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF) เพิ่มขึ้นใหม่ 61 กองนับจากต้นปีนี้ โดยได้รับแรงหนุนจากการคลายเกณฑ์การลงทุนในต่างประเทศของ ธปท.และ ก.ล.ต. อันเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางในการช่วยจำกัดการแข็งค่าของเงินบาท และเพื่อเป็นการสนับสนุนและเพิ่มโอกาสในการลงทุนให้กับนักลงทุนภายในประเทศ โดยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน FIF ณ.วันที่ 30 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา อยู่ที่ 130,014 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 350 จากเมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา กองทุนทีมีการขยายตัวมากเป็นลำดับสองได้แก่ กองทุนตราสารหนี้นั้น ยังคงได้รับแรงหนุนจากการเติบโตของกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น ซึ่งนอกจากจะเป็นการ Roll-over ในกองทุนที่ครบกำหนดอายุการลงทุนต่อไปแล้ว ยังเป็นผลจากการที่ส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรและอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ยังคงอยู่ในระดับที่ค่อนข้างมาก สำหรับกองทุนรวมตราสารทุนนั้น ได้รับปัจจัยหนุนจากการขยายตัวของกองทุน LTFและการทะยานขึ้นของดัชนีตลาดหุ้นไทย โดยทาง บลจ.ต่างๆ รีบจัดตั้งกองทุนใหม่ก่อนสิ้นเดือน มิถุนายน 2550 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่จะครบกำหนดเวลาที่จะอนุญาตให้ตั้งกองทุน LTF กองใหม่โดยผู้ลงทุนได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี

สำหรับแนวโน้มของธุรกิจกองทุนรวมในปีหน้านั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า บรรยากาศการลงทุนในตลาดทุนปีหน้า คงจะได้รับผลกระทบจากทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ โดยความคาดหวังเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศภายหลังการเลือกตั้งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่นักลงทุนจับตามองอย่างใกล้ชิด ขณะที่ภาวะความผันผวนจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง และปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคการเงินในสหรัฐที่มีผลกระทบต่อสภาพคล่องในตลาดเงินต่างประเทศ ตลอดจน ราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงคงจะสร้างแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อและทิศทางอัตราดอกเบี้ยในประเทศเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงมีมุมมองเชิงบวกเกี่ยวกับการขยายตัวของธุรกิจกองทุนรวมในปีหน้า โดยคาดว่าน่าจะสามารถมีอัตราการขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 20-30 ใกล้เคียงกับการขยายตัวในปีนี้จากปัจจัยต่างๆ เช่น การที่ พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 แม้ว่า ในทางปฏิบัติแล้ว พ.ร.บ.ดังกล่าวจะยังไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ฝากเงินมากนัก เนื่องจากยังคงให้ความคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวนในปีแรก แต่ผลกระทบทางจิตวิทยาจากการที่ผู้ฝากเงินรับรู้ว่าเงินฝากของตนในธนาคารจะค่อยๆได้รับความคุ้มครองในวงเงินที่ลดลงในอนาคต จะส่งผลให้มีความระมัดระวังเพิ่มขึ้นในการพิจารณาฝากเงิน รวมถึงหันมาให้ความสนใจกับทางเลือกในการลงทุนรูปแบบอื่นๆ โดยเฉพาะรูปแบบที่มีความใกล้เคียงเงินฝาก ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนการขยายตัวของกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้นหรือตลาดเงินมากยิ่งขึ้น นอกจากนั้น ส่วนต่างของอัตราผลตอบแทนระหว่างพันธบัตรรัฐบาลและเงินฝากธนาคารพาณิชย์ที่คาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับสูงใน 2551 อันเป็นผลจากการที่อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะเร่งตัวขึ้นในปีหน้าซึ่งจะช่วยสนับสนุนการคาดการณ์ถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระบบการเงิน และทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นมีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้นไปก่อนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ และปริมาณตราสารหนี้ของรัฐบาลที่น่าจะเข้าสู่ระบบมากขึ้นในปีหน้าซึ่งคาดว่าจะช่วยให้อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ในตลาดปรับตัวสูงขึ้นจะทำให้เกิดความต้องการลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น ขณะที่คาดว่ากองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF) ยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องจากปีนี้ จากการที่ทางการได้มีแนวนโยบายในการสนับสนุนให้มีการลงทุนต่างประเทศมากขึ้น ทั้งนี้ การที่วงเงินในการลงทุนต่างประเทศได้ถูกขอไปจำนวนมากในปีนี้ ทำให้คาดว่า มีความเป็นไปได้ที่จะมีการจัดสรรวงเงินเพิ่มให้ในปีหน้า รวมไปถึง การพิจารณาเพิ่มประเภทสินทรัพย์ที่ลงทุน เช่น อาจเปิดโอกาสให้ลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ นอกจากนั้น ความชัดเจนเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับปัจจัยทางการเมืองในประเทศหลังการเลือกตั้ง และการจัดตั้งรัฐบาลใหม่จะเป็นปัจจัยที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจอย่างต่อเนื่อง โดยหากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่เป็นไปราบรื่นและมีการนำเสนอแนวนโยบายเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อนักลงทุนต่างชาติ ย่อมจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่สามารถช่วยสนับสนุนความเชื่อมั่นของนักลงทุนและการปรับตัวของดัชนีตลาดหุ้น ซึ่งจะเป็นการช่วยหนุนการขยายตัวของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิกองทุนรวมตราสารทุน รวมไปถึง การผ่อนคลายกฎเกณฑ์การลงทุนในกองอสังหาริมทรัพย์ของ ธปท. โดย ธปท.ได้มีประกาศยกเว้นการกันเงินสำรองและการทำ Full Hedging กรณีนักลงทุนต่างชาติที่เป็นผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์กองเดิมที่ออกขายเพิ่มเติมซึ่งถือได้ว่าเป็นปัจจัยบวกต่อกองทุนอสังหาริมทรัพย์บางกองที่ต้องการขยายขนาดกองทุนเพิ่มในปีหน้า

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน