ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้คาดการณ์ถึงแนวโน้มตลาดหุ้นไทยในปี 2551 ซึ่งคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ โดยปัจจัยภายนอกนั้น นำโดยภาวะความปั่นป่วนทางการเงินอันสืบเนื่องมาจากตลาดสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มจะดำเนินต่อไปในปี 2551 ซึ่งอาจสร้างความผันผวนให้กับการเคลื่อนไหวของตลาดทุนโลก ตลอดจนตลาดหุ้นไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า แนวโน้มการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทยในระยะ 1-2 เดือนข้างหน้า หรือในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ นักลงทุนจะยังคงให้ความสนใจกับปัจจัยทางด้านการเมืองอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้คาดว่า หากปัจจัยที่เป็นข้อกังวลของนักลงทุน ได้แก่ สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศมีการคลี่คลายไปในทิศทางที่ชัดเจนขึ้นย่อมจะส่งผลให้มีโอกาสที่นักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาในตลาดได้อีกครั้ง นอกจากปัจจัยทางการเมืองแล้ว การปรับตัวของตลาดหุ้นไทยคงจะขึ้นอยู่กับการคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ความคาดหวังเชิงบวกเกี่ยวกับการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศจากความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภคและนักลงทุนหลังสถานการณ์ทางการเมืองมีความชัดเจน น่าจะเป็นปัจจัยที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ในปีนี้แทนที่การส่งออกซึ่งมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงจากปัญหาทางเศรษฐกิจของสหรัฐ และทิศทางการแข็งค่าของเงินบาท โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ประมาณการการขยายตัวของจีดีพีภายใต้สมมติฐานราคาน้ำมันที่แตกต่างกัน โดยประเมินผลกระทบราคาน้ำมันแบ่งเป็น 3 กรณี คือ กรณีพื้นฐาน โดยให้ราคาน้ำมันดิบเบรนท์มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 92 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จะส่งผลให้การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2551 อยู่ภายในช่วงร้อยละ 4.5 จากที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.6 ในปี 2550 และอัตราเงินเฟ้อที่ร้อยละ 3.5 กรณีมุมมองเชิงบวก เป็นกรณีที่จะสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการลงทุนในตลาดหุ้นมากที่สุด ถ้าราคาน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มขึ้นในอัตราที่ไม่รุนแรงนัก โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์มีค่าเฉลี่ยประมาณ 85 ดอลลาร์ฯต่อบาร์เรล ในกรณีนี้ อัตราเงินเฟ้อน่าจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 3.0 คาดว่าจีดีพีของไทยจะขยายตัวค่อนข้างดี คือประมาณร้อยละ 5.2 กรณีเลวร้าย เป็นกรณีซึ่งจะกดดันบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นโดยรวม และผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนมากที่สุด โดยคาดว่าหากราคาน้ำมันมีค่าเฉลี่ยที่ประมาณ 100 ดอลลาร์ฯต่อบาร์เรลในปีนี้ การเติบโตของจีดีพีอาจจะต่ำลงมาอยู่ในช่วงร้อยละ 4.0 โดยในกรณีนี้คาดว่าอัตราเงินเฟ้ออาจเร่งตัวขึ้นสู่ร้อยละ 4.0 โดยในกรณีนี้ ความเสี่ยงของภาวะที่ปัญหาเงินเฟ้อเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ(Stagflation)จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจน ในขณะเดียวกัน การที่อัตราเงินเฟ้อมีค่าเฉลี่ยสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธปท.ที่ร้อยละ 3.25 ในปัจจุบัน ก็อาจส่งผลให้ธปท.ต้องพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแม้ว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะชะลอตัว
แต่เมื่อพิจารณาปัจจัยพื้นฐานของตลาดหุ้นไทย ได้แก่ การที่เป็นตลาดหุ้นที่มีราคาถูก (ค่าP/Eต่ำ) กว่าประเทศอื่นๆในภูมิภาค ในขณะที่มีอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend Yield) สูง โดยจากการรวบรวมค่า P/E และ Dividend Yield ของดัชนีตลาดหุ้นไทยเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคจะถือได้ว่าเป็นตลาดที่มีความน่าสนใจในการลงทุนส่งผลให้คาดว่า หากปัจจัยที่เป็นข้อกังวลของนักลงทุน ได้แก่ สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศมีการคลี่คลายไปในทิศทางที่ชัดเจนขึ้นย่อมจะส่งผลให้มีโอกาสที่นักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาในตลาดได้อีกครั้ง ทั้งนี้ บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทยมีมุมมองเชิงบวกกับหุ้นกลุ่มที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของการการบริโภค และการลงทุนในประเทศในปีนี้ ได้แก่ กลุ่มธนาคาร กลุ่มค้าปลีก กลุ่มท่องเที่ยว กลุ่มที่อยู่อาศัย กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น โดยคาดการณ์ระดับเป้าหมายของดัชนีตลาดหุ้น ณ.ปลายปี 2551 ที่ระดับ 1,080 จุด
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น