Display mode (Doesn't show in master page preview)

14 กุมภาพันธ์ 2551

ตลาดการเงิน

สินเชื่อที่อยู่อาศัย ปี 2551: ธนาคารพาณิชย์เปิดศึกแข่งขัน…ชูอัตราดอกเบี้ยต่ำ...อนุมัติด่วนทันใจ (กระแสทรรศน์ฉบับที่ 2039)

คะแนนเฉลี่ย

ในปี 2551 คาดว่า สถาบันการเงินจะให้ความสำคัญกับการขยายสินเชื่อที่อยู่อาศัยมากขึ้น ทั้งจากธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางที่มีพันธมิตรร่วมทุนจากธนาคารต่างชาติ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่เริ่มเดินหน้าทำตลาดอย่างหนัก ทำให้การแข่งขันในปีนี้จะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า การขยายตัวสินเชื่อที่อยู่อาศัยโดยรวมของระบบในปี 2551น่าจะขยายตัวที่ประมาณร้อยละ 12 หรือมีมูลค่าประมาณ 1,646,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 9.4 ในปี 2550

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ทิศทางการแข่งขันสินเชื่อที่อยู่อาศัยในปีนี้น่าจะเป็นปีแห่งการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรง แม้ว่าสถาบันการเงินจะพยายามหลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคาแต่ก็คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าราคายังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค โดยสถาบันการเงินบางแห่งน่าจะยังคงทำแคมเปญการแข่งด้านราคา เพื่อขยายฐานสินเชื่อที่อยู่อาศัยในปีนี้ โดยชูกลยุทธ์อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำพิเศษ ซึ่งการกำหนดอัตราดอกเบี้ยคงที่ที่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยลอยตัวในปัจจุบัน เช่น อัตราดอกเบี้ยคงที่ระยะสั้น 1-3 ปี ที่ร้อยละ 5 เป็นต้น หรืออัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 0 ในช่วง 1-3 เดือนแรก เป็นต้น อย่างไรก็ตามสถาบันการเงินบางแห่งมีการเสนอทางเลือกอื่นๆในการดึงดูดลูกค้าให้หันมาใช้บริการสินเชื่อของตน เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่หลากหลาย เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค การเจาะกลุ่มลูกค้าตามพฤติกรรมของลูกค้ามากขึ้น การเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่นๆควบคู่กับผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่อยู่อาศัย การให้คำปรึกษาด้านการเงิน การเสนอการบริการอนุมัติสินเชื่อที่รวดเร็วกว่า เพื่อพยายามสร้างความแตกต่างในการแข่งขัน

สำหรับประเด็นการอนุมัติสินเชื่อที่อยู่อาศัย ในปี 2551 นี้ สถาบันการเงินยังคงให้ความสำคัญต่อคุณภาพของสินเชื่อในระบบ ถึงแม้การแข่งขันของธุรกิจสินเชื่อที่อยู่อาศัยจะรุนแรง แต่สถาบันการเงินยังคงเพิ่มความระมัดระวังในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ โดยเฉพาะในสภาวะที่เศรษฐกิจยังคงมีความเสี่ยงจากปัจจัยต่างๆ อาทิ ความผันผวนของราคาน้ำมัน แนวโน้มค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการผ่อนชำระสินเชื่อของผู้บริโภคบางกลุ่ม ทำให้แต่ละสถาบันการเงินได้มีการพัฒนาระบบการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ขอสินเชื่อ หรือ Credit Scoring เพื่อช่วยให้การอนุมัติสินเชื่อมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกเหนือจากการใช้ข้อมูลจากเครดิตบูโรเพียงแห่งเดียว

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน