Display mode (Doesn't show in master page preview)

4 มีนาคม 2551

ตลาดการเงิน

การยกเลิกมาตรการกันสำรองร้อยละ 30 ... ดีต่อภาวะการลงทุน แต่สร้างความซับซ้อนในการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ย (กระแสทรรศน์ฉบับที่ 2046)

คะแนนเฉลี่ย

ในที่สุด สิ่งที่นักลงทุนในตลาดเงินและตลาดทุนพากันคาดการณ์มาตั้งแต่ต้นปี 2551 โดยเฉพาะหลังจากที่รัฐบาลชุดใหม่ได้ถูกจัดตั้งขึ้น ก็ปรากฏเป็นจริงขึ้น โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้แถลงข่าวเมื่อเย็นวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2551 ประกาศยกเลิกมาตรการดำรงเงินสำรองเงินนำเข้าระยะสั้นร้อยละ 30 และให้มีผลตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2551

โดยหากพิจารณาในภาพรวมแล้ว การยกเลิกมาตรการกันสำรองร้อยละ 30 ของเงินทุนนำเข้าระยะสั้น ถือว่าเป็นการกำจัดอุปสรรคของการลงทุนสำหรับนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งน่าจะทำให้เกิดการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น และเป็นผลดีต่อตลาดทุนไทยโดยเฉพาะตลาดตราสารหนี้ รวมทั้งเป็นผลดีต่อการลงทุนต่างๆ ของภาคเอกชน เช่น กองทุนรวมต่างๆ โดยเฉพาะกองทุนอสังหาริมทรัพย์

อย่างไรก็ตาม การยกเลิกมาตรการดังกล่าวในขณะที่อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯมีแนวโน้มที่จะถูกปรับลดลงไปอีกนั้น อาจสร้างแรงกดดันให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น จากกระแสเงินทุนที่เคลื่อนย้ายตามส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของไทยและสหรัฐฯ ทั้งนี้ ผลต่างอัตราดอกเบี้ยของไทยและสหรัฐฯ คาดว่าจะกว้างขึ้น หากธนาคารกลางสหรัฐฯปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงไปถึงระดับประมาณร้อยละ 1.75-2.00 ภายในกลางปี 2551 นี้ ซึ่งย่อมจะส่งผลกดดันการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยของ ธปท. ในขณะที่ ธปท.จำต้องชั่งน้ำหนักในเรื่องความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ หลังจากที่อัตราเงินเฟ้อเดือนกุมภาพันธ์พุ่งไปถึงร้อยละ 5.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า และหากราคาน้ำมันตลาดโลกยังคงมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ทั้งการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังที่มีแนวโน้มผ่อนคลายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อาจสร้างความซับซ้อนมากขึ้นให้กับ ธปท. ในการบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนและนโยบายการเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาค และภาวะที่ผ่อนคลายของนโยบายการเงินและการคลังดังกล่าว อาจนำมาสู่ข้อกังวลของแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต ซึ่งจะยังคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามดูอย่างใกล้ชิดต่อไป

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน