Display mode (Doesn't show in master page preview)

14 มีนาคม 2551

ตลาดการเงิน

การประชุม 18 มี.ค. … เฟดอาจลดดอกเบี้ยลงอีกอย่างน้อยร้อยละ 0.50 (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2119)

คะแนนเฉลี่ย

แม้ว่าความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อจะยังคงเป็นประเด็นที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ให้ความสำคัญ โดยเฉพาะหากราคาน้ำมันตลาดโลกยังมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ในการประชุมตามวาระปกติเป็นรอบที่สองของปีในวันที่ 18 มีนาคม 2551 นี้ คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟดคงจะเทน้ำหนักไปที่ความเสี่ยงด้านการขยายตัวของเศรษฐกิจเป็นหลักมากกว่า เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯยังมีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบจากปัญหาในตลาดสินเชื่อ ซึ่งบั่นทอนความเชื่อมั่นในตลาดการเงินและผู้บริโภคสหรัฐฯในวงกว้าง โดยที่ยังคงไม่มีสัญญาณที่บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯจะสามารถพลิกฟื้นกลับมาขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องภายในเวลาอันใกล้นี้ ในขณะที่ การดำเนินนโยบายการเงินและการคลังแบบผ่อนคลายอย่างต่อเนื่องของทางการสหรัฐฯ ผ่านการปรับลดอัตราดอกเบี้ย การออกมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องต่างๆ มาตรการคืนภาษี และแผนการให้ความช่วยเหลือต่างๆ ก็ยังไม่ได้ปรากฏผลในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯได้อย่างชัดเจน ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงเห็นว่า เพื่อที่จะประคับประคองเศรษฐกิจสหรัฐฯไม่ให้ตกต่ำลงอย่างรุนแรง เฟดอาจยังมีความจำเป็นที่จะต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ลงอีกอย่างน้อยร้อยละ 0.50 ในการประชุมรอบที่จะถึงนี้ ขณะที่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงถึงร้อยละ 0.75 ก็มีโอกาสจะเกิดขึ้นได้มากเช่นเดียวกัน ขึ้นอยู่กับการประเมินสถานการณ์แวดล้อมทางเศรษฐกิจโดยรวมของเฟดว่าเป็นเช่นไร นอกจากนี้ วัฏจักรอัตราดอกเบี้ยขาลงของเฟดอาจยังมีแนวโน้มดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุดตลาดได้คาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ย Fed Funds อาจจะถูกปรับลดลงมาต่ำกว่าร้อยละ 2.00 ภายในเดือนกันยายน 2551 นี้ ในขณะที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า กว่าที่เศรษฐกิจสหรัฐฯจะสามารถฟื้นตัวกลับมาอย่างชัดเจนและต่อเนื่อง อาจต้องใช้ระยะเวลาอย่างน้อยประมาณ 4-6 ไตรมาส

สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยนั้น ในกรณีที่เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกอย่างน้อยร้อยละ 0.50 จริงตามที่คาด เงินดอลลาร์สหรัฐฯที่อาจมีแนวโน้มอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลัก ประกอบกับส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างไทยและสหรัฐฯที่กว้างขึ้นกว่าเดิม อาจดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น โดยเฉพาะหลังจากที่ทางการไทยได้ประกาศยกเลิกมาตรการกันสำรองร้อยละ 30 ไปแล้วเมื่อวันที่ 3 มีนาคม ซึ่งแนวโน้มดังกล่าว อาจสนับสนุนให้เงินบาทมีแนวโน้มปรับตัวแข็งค่าขึ้น ในขณะเดียวกัน การชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจหลักอื่นๆ มากน้อยเพียงใด ก็เป็นปัจจัยที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการขยายตัวของการส่งออกไทยในระยะข้างหน้าด้วย นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยและทั่วโลกอาจยังต้องประสบกับภาวะราคาน้ำมันแพงอย่างต่อเนื่องต่อไป อันเป็นผลเนื่องมาจากการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ฯที่ทำให้การลงทุนในสินทรัพย์สหรัฐฯมีความน่าสนใจน้อยลง ซึ่งส่งผลให้นักลงทุนทำการโยกย้ายเงินเข้าสู่สินทรัพย์ประเภทอื่น โดยเฉพาะตลาดสินค้าโภคภัณฑ์มากขึ้น ทางด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยคงจะต้องเผชิญกับความยากลำบากมากขึ้นในการตัดสินใจนโยบายอัตราดอกเบี้ยเพื่อที่จะรักษาสมดุลความเสี่ยงทั้งทางด้านราคาและการขยายตัวของเศรษฐกิจ ท่ามกลางสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีความผันผวนอยู่มาก

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน