Display mode (Doesn't show in master page preview)

19 มีนาคม 2551

ตลาดการเงิน

เฟดปรับลดดอกเบี้ยน้อยกว่าตลาดคาด…ผลกระทบต่อไทย (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2123)

คะแนนเฉลี่ย

เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2551 คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (Federal Open Market Committee: FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด ได้มีมติให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ลงร้อยละ 0.75 จากร้อยละ 3.00 มาที่ร้อยละ 2.25 ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2548 พร้อมกันนั้น เฟดยังได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ย Discount rate ลงอีกร้อยละ 0.75 จากร้อยละ 3.25 มาที่ร้อยละ 2.50 (หลังจากที่ทำการปรับลดอัตราดอกเบี้ย Discount rate ลงแบบฉุกเฉินไปเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2551) อย่างไรก็ตาม การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดในครั้งนี้มีขนาดน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์ในตลาดการเงินส่วนใหญ่ได้คาดหวังไว้ และรายงานหลังการประชุมได้ระบุว่า เจ้าหน้าที่คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน 2 ท่าน ลงมติไม่เห็นด้วยกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.75 ในครั้งนี้ โดยเห็นว่าเป็นขนาดการปรับลดที่มากเกินไป นอกจากนี้แม้ว่าเฟดได้ระบุในแถลงการณ์หลังการประชุมว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงมีความเสี่ยงในช่วงขาลงต่อไป แต่เฟดได้ยอมรับว่าแนวโน้มของอัตราเงินเฟ้อยังคงมีความไม่แน่นอนและจะต้องติดตามพัฒนาการของอัตราเงินเฟ้อในระยะต่อไปอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีมุมมองว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งล่าสุดของเฟดได้ส่งผลให้ความแตกต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยและสหรัฐฯ กว้างขึ้นเป็นร้อยละ 1.00 นอกจากนี้ความแตกต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวยังอาจจะกว้างมากขึ้นอีกหากเฟดทำการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกครั้งในช่วงปลายเดือนเมษายนตามการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ และอาจส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนระยะสั้นและค่าเงินบาทในระยะถัดไปได้ ในขณะเดียวกันแนวโน้มการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯ จะยังคงเป็นปัจจัยหนุนราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อยังคงมีอยู่ต่อไป ในขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวลง ก็คงจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของประเทศต่างๆ ในภูมิภาครวมทั้งไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ท่ามกลางทิศทางของอัตราดอกเบี้ยและแนวโน้มเงินดอลลาร์ฯ ดังกล่าว จะเห็นได้ว่า ทางการไทยต้องเผชิญกับโจทย์ด้านนโยบายเศรษฐกิจที่มีความซับซ้อนมากขึ้น โดยจะต้องรักษาสมดุลระหว่างการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการต่างๆ โดยเฉพาะทางด้านการคลัง และการดูแลประเด็นทางด้านเสถียรภาพ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของค่าเงินบาทและอัตราเงินเฟ้อ ในขณะที่การชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็อาจจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและการส่งออก อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า การดำเนินการทั้งทางด้านการเงินและการคลังของทางการไทยในช่วงที่ผ่านมา น่าจะส่งผลให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ อยู่ในระดับที่ไม่ต่ำไปกว่าปีก่อนหน้า ในขณะที่แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอาจมีค่าเฉลี่ยใกล้เคียงร้อยละ 4 ในปีนี้ แต่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานก็น่าที่จะยังคงอยู่ต่ำกว่าร้อยละ 2 ซึ่งน่าจะถือได้ว่าเป็นระดับที่สะท้อนความมีเสถียรภาพของระบบ

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน