กล่าวโดยสรุปได้ว่า การที่ยังคงไม่สามารถประเมินมูลค่าความเสียหายและความรุนแรงของปัญหาวิกฤติสินเชื่อในสหรัฐฯได้อย่างแน่ชัดนั้น ได้กลายเป็นประเด็นที่กดดันบรรยากาศการลงทุนในตลาดทุนโลกอย่างต่อเนื่อง สังเกตจากการที่ดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกมีการปรับตัวอย่างผันผวนตามข่าวที่เกี่ยวข้องกับบริษัทจดทะเบียน หรือตามรายงานตัวเลขข้อมูลทางเศรษฐกิจต่างๆของสหรัฐฯที่ทยอยรายงานออกมา ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นไปในทางที่บ่งชี้ถึงแนวโน้มที่เศรษฐกิจสหรัฐฯอาจจะกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้พิจารณาการปรับตัวของเครื่องชี้ที่สำคัญทางเศรษฐกิจบางตัวซึ่งน่าจะเป็นเครื่องชี้บอกว่าเศรษฐกิจกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอยหรือไม่ เทียบเคียงกับช่วงที่เกิดเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯเมื่อ 3 รอบที่ผ่านมาในอดีตแล้วพบว่า มีแนวโน้มที่จะมีการปรับตัวไปในทิศทางเดียวกับในช่วงที่เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยเช่นกัน ทั้งนี้ จากการพิจารณาการปรับตัวของดัชนี DJIA ในอดีตในช่วงเวลาซึ่งเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย 3 รอบหลังสุด จะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่แล้วนั้น ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯมักจะมีการปรับตัวลดลงก่อนล่วงหน้าประมาณ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจสหรัฐฯในรอบปัจจุบันมีความแตกต่างจากรอบก่อนหน้าในช่วงวิกฤตฟองสบู่ในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี เนื่องจากมีจุดเริ่มต้นมาจากภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการบริโภคของภาคครัวเรือนอันเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยทำให้ความมั่งคั่งของผู้บริโภคลดลง ส่งผลให้มีความต้องการใช้จ่ายลดลงและกระทบไปถึงเครื่องชี้ทางด้านการใช้จ่ายอื่นๆ นอกจากนั้น มีความเป็นไปได้ที่ปัญหาของเศรษฐกิจสหรัฐฯในรอบนี้อาจจะใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัวนานกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับรอบก่อนหน้าในช่วงวิกฤตฟองสบู่ในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ในขณะที่การปรับตัวของดัชนีในช่วงที่ผ่านมาเป็นไปอย่างผันผวนมาก อันเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการที่นักลงทุนพยายามหาโอกาสในการเข้าทำกำไรจากการเลือกรับรู้เฉพาะข้อมูลด้านบวกบางประเภท แม้ว่าปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจจะยังไม่เปลี่ยนแปลงก็ตาม โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า แนวโน้มการปรับตัวในลักษณะที่ผันผวนดังกล่าวของตลาดหุ้นสหรัฐฯจะยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากปัจจัยลบเกี่ยวกับเศรษฐกิจสหรัฐฯยังคงไม่ได้ถูกรับรู้ไปทั้งหมด และตัวเลขเศรษฐกิจน่าจะยังไม่ถึงจุดต่ำสุดในขณะนี้ โดยการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจที่อ่อนแอน่าจะดำเนินต่อไปอย่างน้อยภายในครึ่งแรกของปีนี้ อย่างไรก็ตาม คาดว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯอาจจะมีการฟื้นตัวขึ้นได้ก่อนการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจจริง โดยได้แรงหนุนจากแนวโน้มการดำเนินนโยบายทางการเงินที่ผ่อนคลายของเฟดอย่างต่อเนื่องในปีนี้ และการออกมาตรการต่างๆในการแก้ปัญหาการขาดแคลนสภาพคล่องในตลาดการเงิน ตลอดจน แรงซื้อที่คาดว่าจะกลับเข้ามาในบริษัทที่มีปัจจัยพื้นฐานดีหลังจากที่ราคาหุ้นร่วงลงไปมากกว่ามูลค่าที่แท้จริง โดยผลสำรวจความเห็นของนักกลยุทธ์และผู้จัดการกองทุนกว่า 130 รายที่จัดทำโดยรอยเตอร์คาดว่า ดัชนี DJIA จะสามารถปิด ณ.สิ้นปี 2551 ที่ 13,900 จุด หรือเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 12.4 จากระดับปิด ณ.วันที่ 20 มีนาคม ที่ 12,361.32 จุด หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 จากสิ้นปี 2550
ในส่วนผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า แม้การคาดการณ์เกี่ยวกับการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯและแนวโน้มที่อ่อนแอของเศรษฐกิจสหรัฐฯอาจจะเป็นการดึงดูดให้นักลงทุนมีความต้องการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนไปยังตลาดเกิดใหม่ รวมถึงประเทศไทยมากขึ้น จากแนวโน้มการแข็งค่าของค่าเงินในภูมิภาคเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ และอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ยังอยู่ในระดับสูงของภูมิภาคเอเชีย แต่ในขณะเดียวกัน หากการรายงานตัวเลขในภาคเศรษฐกิจและการเงินของสหรัฐฯยังคงออกมาย่ำแย่กว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้อย่างต่อเนื่อง ความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยและการขาดแคลนสภาพคล่องในสถาบันการเงินและกองทุนต่างๆที่รุนแรงมากขึ้นจะส่งผลให้นักลงทุนเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยสูง พร้อมทั้งลดการลงทุนในตลาดเกิดใหม่ต่างๆ แม้ว่าสถาบันการเงินในไทยแทบจะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากปัญหาในภาคการเงินของสหรัฐฯจากมูลค่าการลงทุนในตราสาร CDOs ที่อยู่ในระดับที่ต่ำก็ตาม
อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่าการปรับตัวของตลาดหุ้นไทยในปีนี้น่าจะได้รับแรงหนุนเพิ่มเติมจากปัจจัยบวกอื่นๆ อาทิเช่น ความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภคและผู้ลงทุน จากสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศที่มีความชัดเจนมากขึ้นหลังจากที่มีการจัดตั้งรัฐบาล ตลอดจน การยกเลิกมาตรการกันสำรองร้อยละ 30 ของ ธปท.ซึ่งส่งผลบวกในเชิงจิตวิทยาต่อการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ ความคาดหวังเชิงบวกเกี่ยวกับการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ สืบเนื่องจากการออกมาตรการต่างๆในการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งคาดว่าจะเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนแนวโน้มผลกำไรของหุ้นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับอุปสงค์ในประเทศ เช่น กลุ่มธนาคาร กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ และนิคมอุตสาหกรรม ปัจจัยหนุนอีกประการ ได้แก่ แนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ คาดว่าเฟดจะสามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ลงได้อีกในช่วงที่ยังเหลือของปี หากธนาคารแห่งประเทศไทยตัดสินใจที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเช่นเดียวกัน ก็น่าจะเป็นไปในอัตราที่น้อยกว่าการลดอัตราดอกเบี้ยของเฟด ซึ่งส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างไทยและสหรัฐฯที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น ประกอบกับการที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะสามารถขยายตัวเพิ่มขึ้นได้จากปีที่ผ่านมา ย่อมจะเป็นปัจจัยที่จูงใจให้เกิดการไหลเข้าของเงินลงทุนสู่ตลาดทุนไทยเพื่อแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น