Display mode (Doesn't show in master page preview)

25 เมษายน 2551

ตลาดการเงิน

การประชุม 29-30 เม.ย. ... คาดเฟดลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกร้อยละ 0.25 (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2145)

คะแนนเฉลี่ย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด อาจมีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ลงอีกร้อยละ 0.25 จากร้อยละ 2.25 มาที่ร้อยละ 2.00 ในการประชุมตามวาระปกติรอบที่สามของปีในวันที่ 29-30 เมษายน 2551 พร้อมทั้งมีแนวโน้มจะดำเนินมาตรการเสริมสภาพคล่องผ่านเครื่องมือทางการเงินต่างๆ อย่างต่อเนื่องควบคู่กันไปด้วย ทั้งนี้เพื่อพยุงเศรษฐกิจจากภาวะชะลอตัวที่รุนแรง และเอื้อให้ตลาดการเงินสหรัฐฯสามารถปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติได้โดยไม่เกิดปัญหาสภาพคล่องที่เลวร้ายลงไปอีก ในขณะที่ แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯในช่วงที่เหลือของปี คงจะขึ้นอยู่กับพัฒนาการการปรับตัวของเครื่องชี้เศรษฐกิจที่สำคัญและสถานการณ์ความคืบหน้าของปัญหาในตลาดการเงินสหรัฐฯเป็นหลัก แต่โอกาสที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงแรงๆ อีก คงจะมีจำกัด เพราะการดำเนินการดังกล่าวโดยลำพัง นอกจากอาจไม่ช่วยแก้ปัญหาสภาพคล่องได้มากนักแล้ว ยังอาจสร้างแรงกดดันเงินเฟ้อให้กลายเป็นความเสี่ยงที่มีน้ำหนักมากขึ้นในอนาคต

ในขณะเดียวกัน เป็นที่คาดหวังกันว่า การลดอัตราดอกเบี้ยลงมาแล้วอย่างมากของเฟดในช่วงที่ผ่านมา จนล่าสุดอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ที่แท้จริงหลังหักเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI Inflation) มีระดับต่ำกว่าศูนย์ ผนวกกับมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องจำนวนมากเข้าสู่ระบบการเงิน ตลอดจนมาตรการทางการคลังของรัฐบาลบุช น่าที่จะเอื้อให้เศรษฐกิจสหรัฐฯและสถานการณ์ในตลาดการเงินทยอยปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติได้ แม้อาจต้องใช้ระยะเวลาอีกนานพอสมควรก็ตาม

สำหรับผลต่อเศรษฐกิจไทยนั้น หากเฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมาที่ร้อยละ 2.00 ในการประชุมวันที่ 29-30 เมษายน 2551 จริงตามที่คาด ค่าผลต่างอัตราดอกเบี้ยไทยและสหรัฐฯที่อาจกว้างขึ้นจากร้อยละ 1.00 มาเป็นร้อยละ 1.25 แม้ว่าอาจมีผลให้เกิดการไหลเข้าสุทธิของเงินทุนเคลื่อนย้ายจากต่างประเทศมายังประเทศไทย และสนับสนุนให้เงินบาทมีแนวโน้มปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แต่จนถึงขณะนี้ ผลกระทบจากปัจจัยดังกล่าวก็ยังไม่ปรากฏชัดเจนนัก และไม่น่าจะเป็นข้อกังวลจนเกินไป หากเศรษฐกิจไทยสามารถจะฟื้นตัวขึ้นได้ตามที่คาดหวัง เนื่องจากการขยายตัวของการลงทุนคงจะทำให้ความต้องการเงินตราต่างประเทศเมื่อเทียบกับเงินบาทมีระดับที่สมดุลมากขึ้น นอกจากนี้ ปัจจัยเรื่องค่าผลต่างอัตราดอกเบี้ยไทยและสหรัฐฯ ก็เป็นเพียงหนึ่งในปัจจัยที่คณะกรรมการนโยบายการเงินของไทย (กนง.) พิจารณา นอกเหนือไปจากความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อและการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ยังคงเป็นน้ำหนักที่สำคัญ ทั้งนี้ จากรายงานแนวโน้มเงินเฟ้อ (Inflation Report) ฉบับเดือนเมษายน 2551 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการปรับประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยและเงินเฟ้อในปีนี้เพิ่มขึ้นจากประมาณการเดิมเมื่อเดือนมกราคม ซึ่งอาจสะท้อนถึงนัยทางนโยบายอัตราดอกเบี้ยของไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน