Display mode (Doesn't show in master page preview)

13 มิถุนายน 2551

ตลาดการเงิน

หลากประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับตลาดหุ้นจีน...และแนวโน้มในอนาคต (กระแสทรรศน์ฉบับที่ 2080)

คะแนนเฉลี่ย

กล่าวโดยสรุปได้ว่า เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ที่ผ่านมานั้น ดัชนีคอมโพสิตตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ปิดที่ระดับต่ำสุดในรอบ 14 เดือนที่ 2,957.53 จุด ลดลงร้อยละ 43.8 จากสิ้นปีที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับการพุ่งขึ้นถึงร้อยละ 96.7 ในปีที่แล้ว ซึ่งเป็นการร่วงลงในอัตราที่มากกว่าการร่วงลงของตลาดหุ้นหลายแห่งทั่วโลก เป็นผลจากทั้งปัจจัยภายนอกและภายในประเทศ โดยปัจจัยภายนอก อาทิเช่น ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่พุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์อย่างต่อเนื่อง ได้ก่อให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับการเร่งตัวของอัตราเงินเฟ้อในจีนและทำให้เกิดการคาดการณ์ในวงกว้างว่า ธนาคารกลางของจีนมีแนวโน้มที่จะตัดสินใจดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นในอนาคต (หลังจากเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน ธนาคารกลางแห่งประเทศจีนได้สั่งปรับเงินสำรองธนาคารพาณิชย์ขึ้นอีกร้อยละ 1 เป็นร้อยละ 17.5) ตลอดจน ความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ ในขณะที่ปัจจัยอื่นๆภายในประเทศ ได้แก่ ความกังวลเกี่ยวกับผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นที่อาจจะลดลงจากในปีที่ผ่านมา ความกังวลเกี่ยวกับปริมาณหุ้นที่จะออกสู่ตลาดหุ้นมากขึ้นจากการระบายหุ้นหลังพ้นช่วงระยะเวลาห้ามขาย (Silent Period) และล่าสุดได้แก่ ผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ซึ่งส่งผลให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อซึ่งนำไปสู่การดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นของทางการจีนได้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าดัชนีคอมโพสิตตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้จะมีทิศทางที่แกว่งตัวลดลงในปีนี้ แต่ความเชื่อที่ว่ารัฐบาลจีนยังคงมีบทบาทสำคัญในการเข้ามากำกับดูแลการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้น ส่งผลให้นักลงทุนต่างพากันคาดการณ์ว่าท้ายที่สุดแล้วรัฐบาลจะต้องออกมาตรการเพื่อเสริมสร้างเสถียรภาพของตลาดและกระตุ้นการซื้อขายในช่วงเวลาที่ตลาดหุ้นซบเซา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงก่อนที่จะมีการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในเดือน สิงหาคม โดยระดับทางจิตวิทยาสำคัญที่ตลาดคาดการณ์ไว้อยู่ที่ 3,000 จุด ซึ่งในปัจจุบันดัชนีร่วงลงไปต่ำกว่าระดับดังกล่าวแล้ว ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ได้แก่ การออกมาตรการการควบคุมการจำหน่ายหุ้นหลังจากพ้นช่วงระยะเวลาห้ามขายให้จำหน่ายหุ้นผ่านทางระบบการซื้อขายล็อตใหญ่ (Block Trading System) การออกมาตรการลดภาษีอากรแสตมป์ในการซื้อขายหุ้นซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน โดยลดภาษีดังกล่าวจากร้อยละ 0.3 ลงมาอยู่ที่ร้อยละ 0.1 เป็นต้น

ในปัจจุบันจีนกำลังอยู่ในช่วงของการปฏิรูปตลาดทุนให้มีความเป็นสากลมากขึ้นอย่างค่อยเป็น ค่อยไป พร้อมๆกับการเปิดภาคเศรษฐกิจอื่นๆของประเทศจากระบบเศรษฐกิจสังคมนิยมสู่ความเป็นทุนนิยมซึ่งขึ้นอยู่กับกลไกตลาดมากขึ้น ซึ่งรวมถึงการเปิดให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามามีบทบาทในตลาดทุนของประเทศมากขึ้น โดยทางการจีนได้มีการพัฒนาโครงสร้างของตลาดทุนในด้านต่างๆให้มีความทันสมัย ซึ่งพัฒนาการที่สำคัญในช่วงที่ผ่านมา อาทิเช่น การดำเนินการเพื่อเปิดตลาดธุรกิจหลักทรัพย์ของประเทศตามข้อตกลงในการเข้าเป็นสมาชิกของ WTO ตามเงื่อนไขต่างๆ เช่น การอนุญาตให้บริษัทหลักทรัพย์ต่างชาติสามารถเข้าประกอบธุรกรรมในตลาด B Shares โดยตรง การอนุญาตให้นักลงทุนสถาบันต่างชาติสามารถร่วมจัดตั้ง Joint Ventures Fund Management Companies และ Joint Ventures Securities Firms ส่งผลให้จนถึงเดือน เมษายน มีจำนวน Joint Ventures Fund Management Companies รวม 31 บริษัท และ Joint Ventures Securities Firms รวม 7 บริษัท การเปิดโอกาสให้นักลงทุนสถาบันต่างชาติเข้าลงทุนในตลาด A Shares ได้โดยผ่านโครงการ Qualified Foreign Institutional Investors การเริ่มโครงการ Qualified Domestic Institutional Investors ซึ่งเป็นการอนุญาตให้ผู้ลงทุนสถาบันในประเทศที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนดสามารถลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศบางประเภทได้ และหนึ่งในมาตรการที่สำคัญที่สุดในการปฏิรูปตลาดทุน ได้แก่ แผนการปฏิรูปการถือหุ้น (The Non-Tradable Share Reform)

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าพัฒนาการในด้านต่างๆจะส่งผลให้ตลาดหุ้นจีนมี บทบาทสำคัญในเวทีตลาดทุนโลกเพิ่มมากขึ้นในอนาคต สังเกตจากสัดส่วนมูลค่าหลักทรัพย์ ณ.ราคาตลาด (Market Cap.) ของตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ต่อ Market Cap. ของตลาดหุ้นทั่วโลกซึ่งเพิ่มขึ้น ขณะที่แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจน่าจะทำให้บริษัทจีนมีความต้องการแหล่งเงินทุนจากทั้งในประเทศและนอกประเทศเพิ่มขึ้นในอนาคต สอดคล้องกับเกณฑ์การอนุมัติให้บริษัทจดทะเบียนในต่างประเทศของทางการจีนซึ่งคงจะเป็นไปในเชิงที่ผ่อนปรนมากขึ้นเช่นกัน ส่งผลให้คาดว่าขนาดและจำนวนของบริษัทจีนที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นต่างประเทศจะเพิ่มขึ้นตามลำดับ และจะมีอิทธิพลต่อขนาดและการเคลื่อนไหวของดัชนีตลาดหุ้นต่างประเทศมากขึ้น นอกจากนั้น ขนาดของตลาดหุ้นจีนที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวย่อมจะส่งผลให้ผู้ลงทุน รวมไปถึง กองทุนต่างๆ มีความต้องการให้น้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นจีนมากขึ้นในพอร์ตการลงทุนของตน ด้านผลกระทบที่มีต่อตลาดหุ้นไทยนั้นมองว่า แม้การเคลื่อนย้ายเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติเข้าออกตลาดหุ้นจีนยังมีข้อจำกัดอยู่มาก อย่างไรก็ตาม คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการปรับตัวของตลาดหุ้นจีนย่อมก่อให้เกิดผลกระทบทางจิตวิทยาต่อการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นในภูมิภาค เนื่องจากเป็นการสะท้อนมุมมองที่มีต่อแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจจีน ในขณะที่การคาดการณ์เกี่ยวกับการแข็งค่าของเงินหยวนเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ ยังช่วยหนุนแนวโน้มการแข็งค่าของค่าเงินสกุลอื่นๆในภูมิภาคเช่นเดียวกัน อันจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยเพิ่มความน่าสนใจลงทุนและสนับสนุนการไหลเข้าของเงินทุนในตลาดหุ้นอื่นๆในภูมิภาค

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน