Display mode (Doesn't show in master page preview)

25 สิงหาคม 2551

ตลาดการเงิน

ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์ครึ่งหลังปี 2551 : ขึ้นดอกเบี้ย เพิ่มเงินดาวน์ เสริมความมั่นคงให้ธุรกิจ (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2267)

คะแนนเฉลี่ย

งวดครึ่งแรกของปี 2551 ยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในระบบสถาบันการเงินเติบโตขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ 29.83 เป็นประมาณ 3.5 แสนล้านบาท โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากยอดจำหน่ายรถยนต์ในช่วงเวลาเดียวกันที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.9 เป็นประมาณ 3.2 แสนคัน อย่างไรก็ตาม ผลของภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อยอดขายรถยนต์ใหม่ในงวดครึ่งหลังของปีให้หดตัวลงประมาณร้อยละ 3 และเฉลี่ยอัตราเติบโตทั้งปีเป็นร้อยละ 3 หรือคิดเป็นจำนวนประมาณ 6.5 แสนคัน

ขณะที่ยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในระบบสถาบันการเงิน งวดครึ่งหลังของปีก็มีแนวโน้มที่จะปรับตัวในทิศทางเดียวกัน โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ปรับลดประมาณการขั้นต่ำของยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อเช่าซื้อรถในระบบสถาบันการเงินลงจากต้นปีที่เคยคาดว่าจะเติบโตร้อยละ 30-35 เป็นร้อยละ 23-26 หรือคิดเป็นประมาณ 3.8-3.9 แสนล้านบาท ซึ่ง ส่วนหนึ่งยังเป็นผลจากการคาดว่าผู้บริโภคจะปรับพฤติกรรมมาสู่รถขนาดเล็กซึ่งมีราคาถูกลง และการที่ผู้ประกอบการอาจเริ่มปรับเพิ่มสัดส่วนการวางเงินดาวน์ขั้นต่ำเพื่อลดความเสี่ยง ซึ่งผลให้ความต้องการสินเชื่อเพื่อเช่าซื้อรถมีจำนวนลดลงตามไปด้วย

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่าการเติบโตที่ชะลอลงในช่วงครึ่งปีหลังนั้น ไม่ใช่เรื่องที่น่าเป็นห่วงแต่อย่างใด เนื่องจากขนาดของความต้องการสินเชื่อเพื่อเช่าซื้อรถในแต่ละปีมีมูลค่าสูงถึง 6-7 แสนล้านบาท (แบ่งเป็นรถใหม่ประมาณครึ่งหนึ่ง ที่เหลือเป็นรถมือสอง รถจักรยานยนต์และอื่นๆ) ยังเป็นตลาดที่สร้างโอกาสในการขยายธุรกิจที่ดีในระยะยาว เพียงแต่จำเป็นต้องมีความระมัดระวังในการบริหารต้นทุนการเงินให้มีความสมดุล ควบคู่ไปกับการขยายตลาดในลักษณะที่รัดกุมรอบคอบมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่ภาวะเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย และอาจนำไปสู่ความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาหนี้เสีย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงมีความเห็นว่าผู้ประกอบการให้เช่าซื้อรถ ควรจะให้ความสำคัญกับการบริหารพอร์ทสินเชื่อทั้งเก่าและใหม่ เพื่อป้องกันการถดถอยของคุณภาพสินทรัพย์ และรักษาความสามารถในการทำกำไร ไม่ให้กระทบกับความมั่นคงของฐานะการเงินในระยะยาว แม้ว่าแนวทางดังกล่าว อาจส่งผลกระทบในระยะสั้นต่อการขยายพอร์ทสินเชื่อบ้างก็ตาม ดังนี้

- กรณีการให้สินเชื่อรายใหม่ : ควรเข้มงวดกับการคัดเลือกลูกหนี้ในรายที่เลือกเกณฑ์วางเงินดาวน์ต่ำกว่า 15-20% ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงมาก โดยอาจต้องให้แสดงหลักฐานการมีทรัพย์สินอื่น นอกเหนือจากหลักฐานด้านรายได้ต่อเดือนที่บริษัทนำมาพิจารณาอยู่แล้ว เช่น การมีฐานะเป็นเจ้าของบ้าน ไม่ใช่เพียงผู้อาศัย เป็นต้น หรือหากเป็นไปได้ ควรกำหนด

อัตราการวางเงินดาวน์ให้เพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 15-20% เพื่อลดความเสี่ยงจากปัญหาหนี้เสีย โดยเฉพาะกรณีลูกค้าไม่มีความสามารถชำระหนี้และขอคืนรถในช่วง 12 เดือนแรกของการผ่อนชำระค่างวด รวมทั้งควรพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมที่สอดคล้องกับต้นทุนการเงินที่เพิ่มขึ้น เพื่อรักษาความแข็งแรงของฐานะการเงินของบริษัท ไม่ให้เป็นภาระกับบริษัทในระยะยาว

- กรณีการบริหารพอร์ทลูกหนี้ปัจจุบัน : ควรให้ทีมเก็บเงินตามประวัติการชำระหนี้ลูกค้าอย่างใกล้ชิด โดยวางระบบเตือนให้มีการสอบถามเมื่อลูกหนี้ผิดนัดแม้จะเพียง 1-2 สัปดาห์ก็ตาม เพื่อให้สามารถติดตามแก้ไขปัญหาร่วมกับลูกหนี้ได้ทันก่อนที่จะกลายเป็นหนี้ด้อยคุณภาพ โดยที่ผู้ประกอบการควรยืดหยุ่นในกรณีลูกหนี้ประสบปัญหาการเงินโดยอาจเจรจาให้ยืดระยะเวลาการชำระหนี้ออกไป ซึ่งจะช่วยลดจำนวนเงินผ่อนชำระต่อเดือนลง หรืออาจให้สินเชื่อเพิ่มเติมเพื่อดัดแปลงเครื่องยนต์จากการใช้น้ำมันเป็นการใช้แก๊สแทน เพื่อลดภาระรายจ่ายของลูกหนี้ให้สามารถผ่อนชำระหนี้ต่อไปได้ เป็นต้น

อนึ่ง ภาวะการแข่งขันที่รุนแรง อาจทำให้ผู้ประกอบการรายกลางและย่อย ที่มีต้นทุนการเงินสูงกว่า จำเป็นต้องหลบการแข่งขันในบางตลาด เช่น ตลาดเช่าซื้อรถยนต์ใหม่ โดยหันมาทำตลาดเช่าซื้อรถยนต์มือสอง หรือจักรยานยนต์ หรือสินค้าประเภทอื่นแทน หรือขยายขอบเขตไปยังการให้สินเชื่อส่วนบุคคลโดยมีหลักประกันเป็นสินค้าที่บริษัทมีความชำนาญอยู่เดิม ซึ่งนอกจากจะทำให้มีโอกาสได้มาร์จิ้นที่สูงขึ้นแล้ว ยังทำให้บริษัทไม่ต้องเผชิญปัญหาการเงินในระยะยาวจากการแข่งขันกับเจ้าตลาดรายใหญ่ที่มีฐานเงินทุนเหนือกว่า อย่างไรก็ตาม การดำเนินการดังกล่าว คงต้องควบคู่ไปกับการบริหารความเสี่ยงที่ต้องรัดกุมขึ้น โดยเฉพาะในตลาดเช่าซื้อรถมือสอง หรือเช่าซื้อสินค้าประเภทอื่น

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน