Display mode (Doesn't show in master page preview)

29 สิงหาคม 2551

ตลาดการเงิน

ทิศทางตลาดหุ้นไทย...ยังเผชิญแรงกดดันจากหลายปัจจัย (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2273)

คะแนนเฉลี่ย

การปรับตัวของดัชนีหุ้นไทยมาจากหลายปัจจัยทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงการปรับตัวของตลาดหุ้นในภูมิภาคด้วย แต่ในระยะหลังตั้งแต่ช่วงเดือนก.ค. ที่ผ่านมา การปรับตัวของดัชนีหุ้นไทยไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นในภูมิภาคเหมือนกับในช่วง 3 ปีก่อน ทั้งนี้ คาดว่าน่าจะเป็นผลมาจากในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยได้รับแรงกดดันจากปัจจัยภายในประเทศมากขึ้น ทั้งจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมือง โดยเฉพาะคดีทางการเมืองต่างๆ และการชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ภาวะเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวลง และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่พุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบเกือบ 10 ปี ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ แม้จะประสบปัญหาซับไพร์มแต่ก็ยังอยู่ในฐานะที่ดีกว่าประเทศหลักอื่นๆ โดยเปรียบเทียบ ด้วยเหตุนี้ อาจทำให้มีเงินทุนไหลออกจากตลาดหุ้นไทยไปสู่ตลาดสหรัฐฯ และทำให้ตลาดหุ้นไทยเริ่มไม่ไปในทิศทางเดียวกับภูมิภาคมากเหมือนแต่ก่อน ทั้งนี้ ในขณะเดียวกันข้อมูลในอดีตชี้ว่าปัจจัยการเมืองมีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทย แต่จำกัดเพียงระยะสั้นๆ หลังจากนั้น การปรับตัวของตลาดเป็นไปตามปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ขณะที่ปัจจัยการเมืองจะมีผลกับดัชนีหุ้นไทยมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับความรุนแรงและระยะเวลาของเหตุการณ์ โดยหลังจากจุดสูงสุดของความวิตกด้านการเมืองผ่านพ้นไป นักลงทุนก็จะกลับมาให้น้ำหนักกับปัจจัยพื้นฐานมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่าแนวโน้มตลาดหุ้นไทยในระยะสั้น อาจยังเผชิญกับปัจจัยท้าทายหลายปัจจัย โดยนอกเหนือจากเรื่องการเมืองแล้ว ก็ยังมีเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มชะลอลง และการที่นักลงทุนต่างชาติอาจยังเคลื่อนย้ายเงินลงทุนออกจากตลาดหุ้นเกิดใหม่ และตลาดโภคภัณฑ์ ท่ามกลางการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ น่าจะยังอยู่ในฐานะที่ดีกว่าประเทศอื่นๆ ในโลก และสถาบันการเงินสหรัฐฯ อาจต้องการเงินทุนเพื่อไปชดเชยการปรับลดมูลค่าทรัพย์สินทางบัญชีเพิ่มเติมตามความเสียหายจากปัญหาซับไพร์ม ซึ่งจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์ต่างๆ ดังกล่าว โดยเฉพาะเศรษฐกิจโลกอาจส่งผลให้ยังคงมีแรงขายหุ้นไทยจากนักลงทุนต่างชาติอีกระยะหนึ่ง ท้ายที่สุดแล้ว บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทยจึงได้ปรับลดเป้าหมายดัชนี ณ สิ้นปี 2551 ลงจาก 900 จุด เป็น 740 จุด

แต่ทั้งนี้หากปัจจัยต่างๆ ดังกล่าวคลี่คลายลง ตลาดหุ้นไทยก็ยังน่าจะได้รับแรงหนุนจากความจำเป็นในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงตามแรงกดดันเงินเฟ้อ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมของภาครัฐ รวมทั้งการตั้งงบประมาณขาดดุลในปีงบประมาณ 2552 มากขึ้น นอกจากนี้ หุ้นไทยยังมีราคาถูก (P/E ต่ำ) เมื่อเทียบกับหลายประเทศในภูมิภาค และอัตราเงินปันผล (Dividend Yield) ยังอยู่ในระดับที่น่าพอใจ โดยเมื่อพิจารณาประเด็นดังกล่าวแล้ว น่าจะหนุนให้ตลาดหุ้นไทยเป็นที่น่าสนใจในสายตาของนักลงทุน และน่าจะมีแรงซื้อเข้ามาในตลาดได้ในระยะถัดไป

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน