ในปัจจุบัน ต้องยอมรับว่าสถานการณ์การลงทุนในตลาดหุ้นโลกต่างได้รับผลกระทบจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกและปัญหาสถาบันการเงินในสหรัฐฯ ที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากวิกฤตสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่ปล่อยกู้ให้กับลูกหนี้ที่มีความน่าเชื่อถือต่ำ (วิกฤตซับไพร์ม) ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ทำการศึกษาข้อมูลในอดีตพบว่า การเปลี่ยนแปลงของดัชนี SET มีความสัมพันธ์กับตลาดหุ้นในต่างประเทศค่อนข้างสูง ขณะที่การปรับตัวของดัชนีหุ้นในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ยังมีแนวโน้มผันผวนในช่วงขาลงอาจทำให้ดัชนี SET มีแนวโน้มยังตกอยู่ภายใต้แรงกดดัน นอกจากนี้ยังพบว่า ดัชนี SET มีอิทธิพลต่อการขยายตัวของจีดีพีในระยะ 2 ไตรมาสข้างหน้าที่ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 95 เมื่อนำมาผนวกเข้ากับการที่ในไตรมาส 3/2551 ดัชนี SET ได้ปรับตัวลดลงจนเข้าสู่ภาวะหมีตั้งแต่ช่วงต้นเดือนก.ค.ที่ผ่านมา และอาจยังคงมีทิศทางที่ไม่ชัดเจนในไตรมาส 4 ของปีนี้ ขึ้นกับสถานการณ์ทั้งในและต่างประเทศ นั่นหมายความว่าจีดีพีของไทยอาจมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงในอีก 2 ไตรมาสข้างหน้าไปจนถึงประมาณช่วงไตรมาสแรกของปี 2552
อีกทั้ง เมื่อพิจารณาแนวโน้มภาพรวมปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่ แนวโน้มเศรษฐกิจโลก ซึ่งจากการคาดการณ์ของ IMF ล่าสุดในเดือน ส.ค. 2551 ระบุว่าเศรษฐกิจโลกในปีนี้อาจขยายตัวร้อยละ 3.9 และชะลอลงในปี 2552 มาที่ร้อยละ 3.7 ขณะที่เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ก็มีแนวโน้มชะลอลงเช่นกันจากร้อยละ 1.3 ในปี 2551 เหลือเพียงร้อยละ 0.7 ในปีถัดไป โดยการชะลอตัวของแนวโน้มเศรษฐกิจโลกดังกล่าว อาจส่งผลให้การส่งออกของไทยมีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ลดลงในช่วงที่เหลือของปีนี้และปีหน้า นอกจากนี้แล้ว ปัญหาทางการเมืองในประเทศหากยืดเยื้อก็ยังเป็นปัจจัยลบที่อาจส่งผลกระทบต่อการใช้จ่าย และการลงทุนในประเทศ ทั้งนี้ ภาพรวมปัจจัยพื้นฐานดังกล่าวได้บ่งชี้ไปในทิศทางที่สอดคล้องกันกับข้อสรุปที่ได้จากผลการศึกษาของศูนย์วิจัยกสิกรไทยข้างต้นว่า เศรษฐกิจไทยอาจมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงในระยะข้างหน้า โดยในเบื้องต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวประมาณร้อยละ 4.2-4.8 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำกว่าระดับศักยภาพ รวมทั้งอาจจะชะลอตัวลงจากอัตราการขยายตัวร้อยละ 5.0 ในปี 2551 นี้
อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามความคืบหน้าของประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องอย่างใกล้ชิดต่อไป ทั้งปัจจัยภายในและนอกประเทศ โดยหากในระหว่างนี้ ปัจจัยลบต่างๆ มีทิศทางการปรับตัวไปในเชิงที่เป็นบวกมากขึ้น หรือมีข่าวดีออกมาในช่วงเวลาที่เหมาะสม อาทิ แผนการกอบกู้วิกฤตทางการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สามารถมีประสิทธิภาพในการยับยั้งความเสียหายในภาคการเงินสหรัฐฯ และลดความจำเป็นของสถาบันการเงินสหรัฐฯ ในการเทขายสินทรัพย์ในต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันต่อตลาดหุ้นทั่วโลกรวมถึงตลาดหุ้นไทยได้บ้าง ประกอบกับหากสถานการณ์การเมืองในประเทศปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้นแล้ว รวมทั้งหากรัฐบาลสามารถออกมาตรการเพิ่มเติมที่มีผลกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างชัดเจน ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ ก็อาจสนับสนุนให้บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทยมีแนวโน้มกลับมาสดใส และในท้ายที่สุดย่อมมีส่วนช่วยลดหรือบรรเทาระดับของการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 ลงไปได้ไม่มากก็น้อย
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น