Display mode (Doesn't show in master page preview)

30 ตุลาคม 2551

ตลาดการเงิน

เฟดลดอัตราดอกเบี้ยสู่ร้อยละ 1.00 ... เปิดโอกาสสำหรับการปรับลดครั้งต่อไป (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2336)

คะแนนเฉลี่ย

ในการประชุมวันที่ 28-29 ตุลาคม 2551 ท่ามกลางความกังวลต่อแนวโน้มการชะลอตัวลงอย่างรุนแรงของเศรษฐกิจโลก ซึ่งเป็นผลที่สืบเนื่องมาจากวิกฤตการเงินโลกซึ่งถูกประเมินว่าอาจมีความร้ายแรงที่สุดในรอบเกือบ 80 ปี เฟดมีมติอย่างเป็นเอกฉันท์ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ลงอีกร้อยละ 0.50 สู่ระดับร้อยละ 1.00 ซึ่งเท่ากับระดับต่ำสุดของอัตราดอกเบี้ยนโยบายในวัฏจักรการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดในรอบก่อนหน้าที่มีนายอลัน กรีนสแปนเป็นประธานเฟด ทั้งนี้ ผลการประชุมในรอบนี้เป็นไปตามการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ในตลาดการเงิน โดยแถลงการณ์หลังการประชุมได้สะท้อนถึงน้ำหนักที่เทให้กับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ส่วนสำคัญที่สุดในแถลงการณ์หลังการประชุมของเฟดในรอบนี้ ก็คือ เฟดได้เทน้ำหนักความสำคัญทั้งหมดให้กับความเสี่ยงในช่วงขาลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และปัญหาความตึงตัวในตลาดการเงิน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังการใช้จ่ายของภาคเอกชนในระยะถัดไป ขณะที่ ไม่มีการระบุถึงความเสี่ยงจากเงินเฟ้อแล้วในแถลงการณ์ฉบับนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เครื่องชี้ความเปราะบางของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจถูกทยอยเปิดเผยออกมาอย่างชัดเจนมากขึ้นในระยะถัดไป ซึ่งเป็นนัยว่า นโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ทั้งในส่วนของนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง ก็ยังคงต้องผ่อนคลายลงอีกในระยะข้างหน้า เพื่อหลีกเลี่ยงโอกาสของการเกิดภาวะการชะลอตัวลงอย่างรุนแรง/ภาวะถดถอยที่ยาวนานของเศรษฐกิจสหรัฐฯ

สำหรับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยนั้น แม้ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตร (อาร์/พี) ระยะ 1 วัน ไว้ที่ร้อยละ 3.75 ในประชุมครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 8 ตุลาคมที่ผ่านมา แต่ถ้อยแถลงของกนง.หลังการประชุมรอบนั้นได้ระบุอย่างชัดเจนว่า นโยบายการเงินในช่วงหลังจากนี้จะให้น้ำหนักเพิ่มมากขึ้นต่อความเสี่ยงด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และเมื่อประกอบกับแนวโน้มของอัตราเงินเฟ้อที่คาดว่าจะปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องนั้น การดำเนินนโยบายการเงินของไทยก็อาจมีทิศทางที่ผ่อนคลายมากขึ้นเช่นเดียวกับทิศทางของอัตราดอกเบี้ยทั่วโลก

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน