Display mode (Doesn't show in master page preview)

7 พฤศจิกายน 2551

ตลาดการเงิน

วัฏจักรดอกเบี้ยขาลง ... ตอกย้ำความรุนแรงของวิกฤตเศรษฐกิจโลก (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2114)

คะแนนเฉลี่ย

ความเสี่ยงในช่วงขาลงของเศรษฐกิจโลกมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา และล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของหลายๆ ประเทศทั่วโลกลงอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากสภาวะที่ไม่ปกติของตลาดการเงินโลกได้สร้างความปั่นป่วนและส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังภาคเศรษฐกิจจริงมากและยาวนานกว่าที่ประเมินไว้ ทั้งนี้ แนวโน้มของเศรษฐกิจโลกซึ่งได้ถดถอยลงอย่างมาก และอาจต้องเผชิญกับภาวะชะลอตัวอย่างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจของประเทศชั้นนำของโลกหลายประเทศ โดยเฉพาะ สหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น หรือแม้แต่ประเทศยักษ์ใหญ่ในเอเชีย เช่น จีน นั้น เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ธนาคารกลางของหลายๆ ประเทศ ได้เริ่มดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ย และ/หรือ ยุติวัฏจักรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

สภาวะการณ์ของระบบเศรษฐกิจโลกดังกล่าว ได้กลายมาเป็นสถานการณ์ที่บีบบังคับให้ทางการของหลายๆ ประเทศ ต้องเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และเข้าให้ความช่วยเหลือสถาบันการเงินที่ประสบปัญหา (ทั้งในด้านให้การค้ำประกัน การรับซื้อสินทรัพย์ที่มีปัญหา และเพิ่มทุนเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับฐานะทางการเงินให้กับสถาบันการเงิน) ) ขณะที่ ธนาคารกลางของประเทศเหล่านั้นก็จำต้องดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย ซึ่งเป็นไปในแนวทางที่สอดคล้องกันกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ธนาคารกลางของประเทศชั้นนำหลายแห่งมีแนวโน้มจะทำการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ บางแห่งอาจต้องดำเนินการปรับลดอัตราดอกเบี้ยด้วยขนาดที่รุนแรง ซึ่งเป็นไปตามความจำเป็นเร่งด่วนของสภาพเศรษฐกิจในแต่ละประเทศ โดยแนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจะนำไปสู่การปรับลดตำแหน่งงาน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังการใช้จ่ายของภาคเอกชนในท้ายที่สุด

ในขณะที่ การปรับฐานของตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะน้ำมัน ได้ทำให้การคาดการณ์เงินเฟ้อทยอยปรับตัวลดลงมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสภาพการณ์ดังกล่าวเป็นปัจจัยที่เอื้อให้ธนาคารกลางหลายๆ ประเทศสามารถดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในระยะถัดไป ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวอาจทำให้วัฏจักรขาลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบายในหลายๆ ประเทศ สิ้นสุดลงที่ระดับที่ต่ำที่สุดในรอบหลายทศวรรษ ขณะที่ อัตราดอกเบี้ยนโยบายของบางประเทศอาจต้องทรงตัวอยู่ในระดับต่ำกว่าร้อยละ 1.00 และหรือใกล้ร้อยละศูนย์ ต่อเนื่องในช่วงหลายไตรมาสข้างหน้า เพื่อประคับประคองระบบเศรษฐกิจให้สามารถผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากในยามที่แนวโน้มเศรษฐกิจโลกได้ถดถอยลงในอัตราที่รุนแรงกว่าที่เคยประเมินไว้

อย่างไรก็ตาม ข่าวดีจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายดังกล่าวอาจช่วยบรรเทาผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศเหล่านั้นได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น แต่แนวโน้มการชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญของเศรษฐกิจแกนหลักของโลกหลายประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ยูโรโซนและยุโรปบางประเทศ ญี่ปุ่น ตลอดจนหลายๆ ประเทศในภูมิภาคเอเชีย ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักลงทุนทั่วโลกใช้ความระมัดระวังในการซื้อ-ขาย และเข้าลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง โดยเฉพาะหุ้นในตลาดเกิดใหม่ ทำให้เป็นที่คาดหมายว่า ภาวะความผันผวนของตลาดการเงินที่ยังคงมีอยู่อาจส่งผลให้เงินดอลลาร์ฯ

ยังคงได้รับแรงหนุนในฐานะที่เป็นสกุลเงินที่มีความปลอดภัย ในขณะที่ รายชื่อตัวเก็งสมาชิกทีมเศรษฐกิจของนายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ อาทิ นาย Timothy Geithner นาย Lanrence Summers และนาย Paul Volcker ที่ถูกทยอยเปิดเผยออกมานั้น ล้วนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิและน่าจะได้รับการตอบรับอย่างดีจากตลาดการเงิน โดยจะต้องจับตามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระลอกที่ 2 ที่อาจมีมูลค่าสูงถึง 1.9 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามข้อเสนอของนายโอบามา ซึ่งหากทำเนียบขาวและสภาคองเกรสเร่งผลักดันมาตรการแก้ไขเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพออกมาอย่างเร่งด่วนในจังหวะเวลาที่เหมาะสม ก็อาจทำให้ความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจและการเงินของสหรัฐฯ เป็นปัจจัยสำคัญที่หนุนค่าเงินดอลลาร์ฯ ในระยะถัดไป

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน