Display mode (Doesn't show in master page preview)

23 มกราคม 2552

ตลาดการเงิน

แนวโน้มธุรกิจกองทุนรวมปี 2552: เผชิญโจทย์ท้าทายจากภาวะเศรษฐกิจ และแนวโน้มดอกเบี้ยขาลง (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2136)

คะแนนเฉลี่ย

ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจทั้งในประเทศและนอกประเทศ มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ของกองทุนรวม ณ สิ้นปี 2551 หดตัวลงร้อยละ 4.80 จากสิ้นปี 2550 ซึ่งมีมูลค่าเท่ากับ 1,533,570.1 ล้านบาท โดยขยับลงจาก 1,610,892.9 ล้านบาทเมื่อสิ้นปี 2550 โดยจำนวนรวมของกองทุนทั้งหมดตลอดทั้งปี 2551พบว่ามีทั้งสิ้น 1,105 กอง โดยสาเหตุที่ทำให้ธุรกิจกองทุนรวมชะลอตัวมาจากปัจจัยภายในประเทศได้แก่ ปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมือง เหตุการณ์การปิดสนามบิน และการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อ่อนไหวต่อความมั่นใจของนักลงทุนต่อการลงทุนในประเทศเป็นอย่างมาก ในขณะที่ปัจจัยภายนอกได้แก่ การลุกลามของปัญหาวิกฤตการเงิน ซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจชั้นนำของโลกมีแนวโน้มจะเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างพร้อมเพรียงกันในปี 2552 อีกทั้งความผันผวนของตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลก ตลอดจนความเสี่ยงด้านเครดิตที่มีระดับสูง ยังทำให้ภาวะการลงทุนเป็นอย่างระมัดระวัง

สำหรับแนวโน้มกองทุนรวมในปี 2552 น่าจะยังคงเป็นปีที่ท้าทายสำหรับบลจ. ในการดำเนินธุรกิจ ส่งผลให้การเลือกสรรผลิตภัณฑ์กองทุนรวมของบลจ.ในปีนี้ คงจะยังเป็นไปในเชิงที่ระมัดระวัง โดยปัจจัยที่คาดว่าจะมีอิทธิพลต่อการดำเนินธุรกิจกองทุนรวมในปี 2552 ที่สำคัญได้แก่ แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย อันเป็นผลกระทบจากภาวะถดถอยของเศรษฐกิจชั้นนำของโลก รวมถึงความผันผวนของตลาดการเงินโลก ซึ่งจะมีผลต่อกำลังซื้อ การใช้จ่าย และการออมของประชาชน ดังนั้นเพื่อที่จะหลี่กเลี่ยงความเสี่ยงจากความผันผวนของตลาด นักลงทุนอาจจะเพิ่มความระมัดระวังในการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ รวมทั้งกองทุนรวม

ในขณะที่แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาลงที่แม้จะส่งผลบวกต่อการลงทุนในกองทุนรวมประเภทตราสารหนี้ตามราคาพันธบัตรที่ปรับขึ้น กระนั้นก็ดี แนวโน้มเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Yield Curve) ที่อาจจะมีระดับต่ำและมีความชันน้อย (Flat) ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2552 นั้น อาจจะส่งกระทบผลต่อความน่าดึงดูดของกองทุนประเภทดังกล่าวและเม็ดเงินลงทุนที่จะไหลเข้าสู่กองทุน เนื่องจากผลตอบแทนที่ได้รับเหนืออัตราดอกเบี้ยเงินฝากมีไม่มาก นอกจากนี้ ปัจจัยที่อาจกระทบต่อภาวะตลาดและการดำเนินธุรกิจของบลจ.ยังรวมไปถึงการครบกำหนดอายุไถ่ถอนของกองทุน FIF โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทุนพันธบัตรรัฐบาลเกาหลีใต้ โดยหากการนำเสนอผลิตภัณฑ์กองทุนรวมของบลจ.ไม่สามารถชดเชยการครบกำหนดอายุไถ่ถอนของกองทุนดังกล่าวได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ก็อาจมีผลต่อมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่วนการปรับลดวงเงินสูงสุดในการหักค่าลดหย่อนของกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) จาก 700,000 บาท ในช่วงสามเดือนสุดท้ายของปี 2551 มาเป็น 500,000 บาท ตามเกณฑ์เดิมในปี 2552 นั้น

แม้ว่าในปีนี้การขยายเพดานการหักลดหย่อนภาษีจะไม่เหมือนในปีที่ผ่านมา แต่ถ้าลูกค้าส่วนใหญ่ของบลจ. เข้าซื้อกองทุน RMF และ LTF ยังไม่ถึงวงเงินสูงสุด ก็น่าจะมีพื้นที้ให้ บลจ.ต่างๆ ขยายตลาดกองทุนดังกล่าวออกมาได้อีกในปี 2552 ทั้งนี้ กองทุนที่คาดว่าจะยังได้รับความสนใจจากนักลงทุน ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจได้แก่ กองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น กองทุนที่ลงทุนในหุ้นกู้ภาคเอกชน และกองทุนที่ลงทุนในหุ้นทุนที่มุ่งเน้นผลตอบแทนในรูปของเงินปันผล

ขณะที่สำหรับผู้มีเงินออมนั้น การเลือกลงทุนในกองทุนรวมปี 2552 คงจะต้องติดตามข่าวสารและพิจารณาถึงปัจจัยแวดล้อมของการลงทุนอย่างถี่ถ้วนมากขึ้น ท่ามกลางปัจจัยลบทางเศรษฐกิจทั้งในและนอกประเทศ ตลอดจนชั่งน้ำหนักระหว่างความเสี่ยงกับผลตอบแทนที่ได้รับให้อยู่ในขอบเขตที่ยอมรับได้ เพื่อที่จะได้เลือกประเภทการลงทุนหรือกองทุนรวมที่สอดคล้องกับความต้องการ รวมถึงตัดสินใจลงทุนในจังหวะที่เหมาะสมต่อไป

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน