Display mode (Doesn't show in master page preview)

13 มีนาคม 2552

ตลาดการเงิน

ทางเลือกในการลงทุนที่น่าสนใจ ... ในยุคดอกเบี้ยต่ำ และตลาดเงินตลาดทุนผันผวน (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2454)

คะแนนเฉลี่ย

หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายตั้งแต่เดือนธันวาคม 2551 ธนาคารพาณิชย์ก็ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำลงตามมา จนท้ายที่สุดแล้ว อัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ก็ได้ถูกปรับลดลงมาเหลือร้อยละ 0.5 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนจากการออมลดน้อยถอยลงไปจากเดิม นอกจากนี้ ความผันผวนในตลาดเงินตลาดทุนทั้งในและนอกประเทศ ยังทำให้แนวโน้มผลตอบแทนในอนาคตขาดความชัดเจน ขณะที่ เพิ่มความเสี่ยงให้กับเม็ดเงินลงทุนตั้งต้นของนักลงทุนอีกด้วย อาทิ การลงทุนในหุ้น ซึ่งอัตราผลตอบแทนหดตัวลงไปแล้วกว่าร้อยละ 7 ตั้งแต่ต้นปี 2552 ขณะที่ การลงทุนในทองคำนั้น แม้จะสร้างผลตอบแทนสูงถึงร้อยละ 11.4 ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2552 แต่ก็มีการแกว่งตัวของราคาทองคำในภาพรวมที่ยังสูงต่อเนื่องจากปี 2551 ซึ่งทำให้นักลงทุนที่เก็งกำไรราคาทองผิดจังหวะ มีโอกาสเผชิญกับผลขาดทุนที่มากขึ้นได้

สำหรับในช่วงที่เหลือของปี 2552 นั้น ท่ามกลางแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในประเทศยังมีโอกาสปรับลดลงต่อ สอดคล้องกับความเป็นไปได้ที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจขยับลงเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ผู้มีเงินออมจึงควรพิจารณาทางเลือกในการลงทุนอื่นๆ ที่อาจให้อัตราผลตอบแทนดีกว่าการฝากเงิน ภายใต้ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ภายใต้แนวโน้มที่เศรษฐกิจโลกยังอาจถดถอยลงต่ออย่างน้อยภายในช่วง 3-6 เดือนข้างหน้า การลงทุนในตลาดหุ้นอาจเผชิญความเสี่ยงจากข่าวลบจากเครื่องชี้เศรษฐกิจโลกที่อาจออกมาย่ำแย่กว่าที่คาด ขณะที่ การลงทุนในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์อย่างทองคำ แม้ว่ามีแนวโน้มที่จะให้อัตราผลตอบแทนสูงต่อเนื่องในฐานะที่เป็นเครื่องมือการลงทุนที่มีความปลอดภัยสูง (Safe-Haven) ในสายตานักลงทุนในระยะนี้ แต่ก็มีความผันผวนสูงขึ้นกว่าในปี 2551

ดังนั้น สำหรับนักลงทุนที่หลีกเลี่ยงความเสี่ยง การลงทุนในช่องทางอื่นๆ อย่างตลาดตราสารหนี้ กองทุนรวม และประกันชีวิต จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ โดยแม้ว่าช่องทางการลงทุนเหล่านี้ อาจมีแนวโน้มอัตราผลตอบแทนที่อ่อนตัวลงไปบ้างในอนาคตอันใกล้ ตามทิศทางของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่ก็ยังให้อัตราผลตอบแทนที่เหนือกว่าการฝากเงิน ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว น่าจะช่วยประคับประคองความมั่งคั่งของผู้มีเงินออมได้บ้าง โดยเฉพาะในยามที่เสถียรภาพด้านรายได้ถูกสั่นคลอนจากภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่มีโอกาสยืดเยื้อเช่นในปัจจุบัน

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน