Display mode (Doesn't show in master page preview)

2 เมษายน 2552

ตลาดการเงิน

ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยแบงก์ไทยไตรมาส 1/2552 : มีโอกาสลดลงแรง ตามการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2474)

คะแนนเฉลี่ย

ถึงแม้ว่าในปี 2551 ที่ผ่านมา ระบบธนาคารพาณิชย์ไทย (12 แห่ง) จะรายงานผลประกอบการในรูปกำไรสุทธิจำนวน 8.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งเติบโตจากปีก่อนหน้าถึงร้อยละ 831.6 เช่นเดียวกับส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (Net Interest Margin: NIM) ที่เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.45 ในปี 2550 มาที่ร้อยละ 3.62 ในปี 2551 แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่าความสามารถในการทำกำไรดังกล่าว โดยเฉพาะเมื่อวัดจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่แสดงถึงธุรกิจหลักของธนาคารพาณิชย์นั้น เริ่มปรากฏสัญญาณความอ่อนแอด้วยการปรับตัวลดลงตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 โดยส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยรายไตรมาสของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยขยับขึ้นไปแตะระดับสูงสุดในไตรมาส 3/2551 ที่ร้อยละ 3.75 ก่อนที่จะขยับลดลงมาที่ร้อยละ 3.55 ในไตรมาส 4/2551

สำหรับในไตรมาสแรกของปี 2552 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงมองว่า ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยจะยังคงตกอยู่ภายใต้แรงกดดันจากปัจจัยแวดล้อมทางธุรกิจที่ไม่เอื้ออำนวยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งคาดว่าจะทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว น่าจะอยู่ในกรอบประมาณร้อยละ 3.42-3.50 ซึ่งลดลงร้อยละ 0.05-0.13 จากไตรมาส 4/2551 และร้อยละ 0.22-0.30 จากไตรมาส 1/2551 แรงกดดันที่ปรากฏขึ้นต่อส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยนั้น คาดว่าจะมาจากทั้งการปล่อยสินเชื่อที่คาดว่าจะหดตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้า (หรือมีอัตราการขยายตัวจากปีก่อนที่ชะลอลง) สภาพคล่องที่ยังคงปรับตัวสูงขึ้นสวนทางกับอัตราผลตอบแทนจากสภาพคล่องที่กลับร่วงลงตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย คุณภาพสินทรัพย์ที่มีโอกาสถดถอยลงตามความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ ตลอดจน การที่ธนาคารพาณิชย์ยังไม่สามารถรับรู้ผลจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำในช่วงที่ผ่านมาได้อย่างเต็มที่

ทั้งนี้ ทิศทางส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงดังกล่าว คาดว่าจะส่งผลให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในไตรมาส 1/2552 มีโอกาสทรงตัว ถึงปรับตัวลดลง โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เช่นเดียวกับ อีกรายได้หลักอย่างรายได้จากค่าธรรมเนียม ซึ่งคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวลงของภาวะเศรษฐกิจเช่นกัน ผ่านการชะลอตัวของสินเชื่อ ปริมาณธุรกรรมทางการค้าและการเงิน อันย่อมจะบั่นทอนโอกาสการเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อ ธนาคารทางอิเล็กทรอนิกส์ และธุรกรรมการโอนเงิน/ชำระเงินต่างๆ ที่มีส่วนแบ่งตลาดรวมกันถึงประมาณร้อยละ 70 ของรายได้ค่าธรรมเนียมทั้งสิ้น ท้ายที่สุดแล้ว รายได้ค่าธรรมเนียมของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในไตรมาส 1/2552 จึงอาจปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า

นั่นหมายความว่า รายได้จากธุรกิจหลักของธนาคารพาณิชย์ไทย (รวมรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและรายได้ค่าธรรมเนียม) จึงน่าจะมีทิศทางที่ปรับลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งทิศทางดังกล่าว ยังไม่นับรวมภาระค่าใช้จ่ายในการกันสำรองที่คาดว่าจะยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน ตามความจำเป็นในการเตรียมรับมือกับความเสี่ยงด้านเครดิตของลูกค้าที่เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารายได้จากธุรกิจหลักอาจปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า แต่เมื่อพิจารณาถึงรายการอื่นๆ ที่มักถูกกระทบจากปัจจัยด้านฤดูกาล อาทิ ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงาน และปัจจัยด้านเทคนิค อาทิ การบันทึกผลขาดทุนจากเงินลงทุนกว่าพันล้านบาทในไตรมาส 4/2551 ซึ่งน่าจะบรรเทาเบาบางลงในไตรมาส 1/2552 นั้น ทำให้ ในภาพรวมแล้ว กำไรสุทธิของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในไตรมาส 1/2552 น่าจะยังขยับขึ้นจากไตรมาส 4/2551 ได้

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน