Display mode (Doesn't show in master page preview)

20 พฤษภาคม 2552

ตลาดการเงิน

กนง.คงดอกเบี้ยที่ร้อยละ 1.25 ... วัฏจักรการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายน่าจะถึงจุดสิ้นสุดแล้ว (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2511)

คะแนนเฉลี่ย

นช่วงบ่ายวันที่ 20 พฤษภาคม 2552 คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (กนง.) สร้างความประหลาดใจให้กับตลาดการเงินและนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ ด้วยมติคงอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน ที่ร้อยละ 1.25 หลังจากทำการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องในการประชุม 4 รอบที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การสิ้นสุดวัฏจักรขาลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบายในรอบนี้อาจมีนัยสำคัญหลายประการต่อตลาดการเงินและทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ สำหรับผลของการสิ้นสุดวัฏจักรขาลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อตลาดพันธบัตรนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในช่วงเวลาหลังจากนี้ ผู้เล่นหลักในตลาดพันธบัตรอาจทยอยซึมซับข่าวเกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของอุปทานพันธบัตรรัฐบาลที่จะเข้าสู่ตลาด ตลอดจนแนวโน้มการขยับขึ้นของอัตราเงินเฟ้อและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 2552

ส่วนผลของการสิ้นสุดวัฏจักรขาลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อทิศทางของค่าเงินบาทนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การสิ้นสุดวัฏจักรขาลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจทำให้ตีความได้ว่า เป็นปัจจัยบวกต่อค่าเงินบาท โดยเฉพาะหากกระแสเงินทุนจากต่างประเทศยังคงไหลเข้าสู่ไทยอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม คาดว่า ภาระหนักของธปท.ในช่วงถัดไปก็คือ การเข้าดูแลให้เงินบาทเคลื่อนไหวตามกลไกตลาดอย่างมีเสถียรภาพ และสอดคล้องกับพื้นฐานทางเศรษฐกิจ และสำหรับผลของการสิ้นสุดวัฏจักรขาลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ออัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์นั้น ก็เป็นคำถามที่ได้รับความสนใจในขณะนี้เช่นกัน

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ในด้านผู้ฝากเงินในปัจจุบันมีระดับที่ต่ำมากแล้ว แต่ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ในด้านเงินกู้ยืมนั้น ยังคงขึ้นอยู่กับเงื่อนไขหลายประการ โดยเฉพาะสถานการณ์ของการปล่อยสินเชื่อและสภาพคล่อง ความเสี่ยงด้านเครดิตของลูกหนี้ ตลอดจนระดับความเข้มข้นของภาวะการแข่งขันระหว่างสถาบันการเงิน

นอกจากนี้ อีกคำถามหนึ่งที่มักจะตามมาภายหลังจากที่วัฏจักรขาลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบายสิ้นสุดลงแล้วก็คือ จังหวะเวลาของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรอบถัดไปจะเกิดขึ้นเมื่อใด ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า คำตอบนี้จะขึ้นอยู่กับแนวโน้มของอัตราเงินเฟ้อเป็นหลัก เนื่องจากในปัจจุบันธปท.ดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า สถานการณ์เศรษฐกิจที่อาจจะยังคงมีสัญญาณที่อ่อนแอ (แม้ความเสี่ยงในช่วงขาลงจะเริ่มลดระดับลงตั้งแต่ในช่วงปลายไตรมาส 2/2552) ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มติดลบ/ทรงตัวในระดับต่ำจนถึงช่วงไตรมาส 3/2552 อาจเป็นสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่เอื้อให้กนง.สามารถยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำเพื่อช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจและเพื่อให้เป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐได้อย่างต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนข้างหน้า

แต่อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาส 3/2552 อาจเริ่มมีความซับซ้อนมากขึ้นสำหรับการดำเนินนโยบายการเงินของธปท.โดยในช่วงเวลาดังกล่าวแรงกดดันในช่วงขาขึ้นของเงินเฟ้ออาจเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น ในขณะที่ เศรษฐกิจไทยอาจกำลังอยู่ในช่วงแรกเริ่มของการฟื้นตัว ทำให้ธปท.อาจจะต้องหันมาพิจารณาถึงความเหมาะสมของระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งการตัดสินใจของธปท.ย่อมขึ้นอยู่กับน้ำหนักที่ให้ในเวลานั้นต่อความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน