Display mode (Doesn't show in master page preview)

4 มิถุนายน 2552

ตลาดการเงิน

ปรับลดอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิต...ผลต่อการแข่งขันทางธุรกิจ (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2523)

คะแนนเฉลี่ย

ภายหลังจากที่คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (กนง.) ได้มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 1.25 เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2552 ที่ผ่านมา ขณะที่มีเสียงเรียกร้องให้ธนาคารพาณิชย์ปรับลดอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมลงอีก เพื่อกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวของสินเชื่อและบรรเทาภาระของผู้กู้ ซึ่งหลังจากนั้น ธนาคารพาณิชย์ได้ทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง โดยธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 0.125-0.25 ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ย MLR มาอยู่ที่ร้อยละ 5.85–6.0 ในปัจจุบัน ซึ่งต่อมา ธนาคารพาณิชย์บางแห่งได้ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตลงร้อยละ 2 ต่อปี จากเดิมอยู่ที่ร้อยละ 20 ต่อปี มาเป็นร้อยละ 18 ต่อปี โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตในครั้งนี้ ซึ่งเป็นไปตามการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในช่วงก่อนหน้า น่าจะช่วยแบ่งเบาภาระการผ่อนชำระสินเชื่อบัตรเครดิตของผู้บริโภคได้ในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภคที่มียอดคงค้างสินเชื่อบัตรเครดิตเป็นจำนวนเงินที่สูง

สำหรับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตของธนาคารพาณิชย์บางราย จากร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 18 ในครั้งนี้ อาจจะกล่าวได้ว่า ในภาพรวม น่าที่จะส่งผลต่อการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการบัตรเครดิต เนื่องจากผู้ประกอบการที่ลดอัตราดอกเบี้ยลงไปก่อน สามารถที่จะชูประเด็นดังกล่าวมาเป็นจุดแข็งในการทำการตลาดได้ อย่างไรก็ตาม คาดว่า ผู้ประกอบการรายอื่น ๆ คงกำลังพิจารณาชั่งน้ำหนัก โดยประเมินถึงผลกระทบในด้านต่าง ๆ จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว ซึ่งนอกจากประเด็นในด้านการตลาดที่การแข่งขันที่น่าจะเข้มข้นมากขึ้นแล้ว ผู้ประกอบการยังคงต้องคำนึงถึงประเด็นในด้านรายด้านและต้นทุนในการดำเนินการด้วย

เนื่องจากธุรกิจบัตรเครดิตเป็นธุรกิจที่มีต้นทุนในการดำเนินการค่อนข้างสูง ในขณะที่สินเชื่อบัตรเครดิตก็ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ในขณะเดียวกันสำหรับด้านผู้บริโภคหรือลูกค้านั้น คาดว่า อัตราดอกเบี้ย แม้ว่าจะเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกใช้บริการ แต่ก็ไม่ใช่ปัจจัยหลักเพียงปัจจัยเดียว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการถือบัตรเครดิตและระดับรายได้ของลูกค้าในแต่ละกลุ่ม โดยผู้บริโภคในแต่ละกลุ่มเป้าหมายอาจจะให้น้ำหนักต่อคุณสมบัติในด้านอื่น ๆ แตกต่างกันออกไป อาทิ สิทธิประโยชน์จากบัตรเครดิต ความสะดวกในการใช้บัตร ความปลอดภัยในการใช้บัตร ตลอดจนคุณภาพของบริการเสริมต่าง ๆ ของบัตรเครดิต ซึ่งทำให้คาดว่าในที่สุดแล้ว ผู้ประกอบการคงจะต้องประเมินสถานการณ์ทางด้านการตลาดของตนอย่างใกล้ชิด เพื่อที่จะตัดสินเรื่องอัตราดอกเบี้ย โดยสำหรับผู้ประกอบการที่ยังไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในขณะนี้ คาดว่าผู้ประกอบการคงจะต้องหันไปมุ่งเน้นคุณสมบัติที่โดดเด่นของบัตรเครดิตและบริการในด้านต่าง ๆ ของตน ทั้งนี้เพื่อที่จะรักษาฐานลูกค้าเดิมและจูงใจลูกค้าใหม่ ท่ามกลางภาวะการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้น

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน