Display mode (Doesn't show in master page preview)

12 มิถุนายน 2552

ตลาดการเงิน

ราคาน้ำมัน และอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาว : ความท้าทายของเศรษฐกิจไทย (กระแสทรรศน์ฉบับที่ 2163)

คะแนนเฉลี่ย

การปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์อย่างรวดเร็วในตลาดโลก ได้ส่งผลกระทบที่สำคัญหลายด้านต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ และไทย โดยในด้านหนึ่งนั้น การทะยานขึ้นของราคาน้ำมันเหนือระดับ 70 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล ได้กระตุ้นให้เกิดความกังวลต่อภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งได้ส่งผลต่อเนื่องไปหนุนให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ระยะ 10 ปี พุ่งขึ้นใกล้ระดับสำคัญทางจิตวิทยาที่ 4.00% ขณะที่ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยก็ปรับตัวเข้าใกล้ระดับ 4.20% ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ การปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วของแรงกดดันเงินเฟ้อ และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรดังกล่าวมีนัยสำคัญต่อทิศทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของทั้งสหรัฐฯ และไทยในรูปแบบที่มีความคล้ายคลึงกัน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจของไทยและสหรัฐฯ ในขณะนี้และในช่วง 1 ปีข้างหน้า มีความคล้ายคลึงกันในหลายๆ ประเด็น โดยเฉพาะประเด็นเรื่องของพัฒนาการเศรษฐกิจ แรงกดดันเงินเฟ้อ และปัญหาการคลัง ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า จากข้อจำกัดด้านแนวโน้มขาขึ้นของเงินเฟ้อ และฐานะการคลังที่อ่อนแอของรัฐบาลดังกล่าว อาจทำให้การดำเนินนโยบายการเงินและการคลังของทั้ง 2 ประเทศ คงจะต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น ซึ่งก็เป็นนัยว่า แรงกระตุ้นเศรษฐกิจจากนโยบายทั้งสองด้านของทั้ง 2 ประเทศ อาจจะทยอยลดระดับของการกระตุ้นลงในช่วงปลายปีนี้และต่อเนื่องไปในปีหน้า

โดยสำหรับกรณีของทางการไทยนั้น คาดว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในช่วงปี 2553 อาจมีระดับที่ลดน้อยลงเมื่อเทียบกับแรงกระตุ้นอย่างมากในปี 2552 ขณะที่ การดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งอาจจะยังไม่ให้น้ำหนักกับผลกระทบจากการปรับขึ้นอย่างรวดเร็วของราคาน้ำมันมากนักในขณะนี้ ก็อาจจะต้องเตรียมตัวรับมือกับแรงกดดันเงินเฟ้อ ซึ่งจะกลับมาในช่วงจังหวะเวลาเดียวกันกับที่เศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในช่วงแรกเริ่มของการฟื้นตัว ดังนั้น บทบาทของตัวแปรหลักที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวในปี 2553 คงจะตกอยู่ที่การส่งออก และการใช้จ่ายภายในประเทศเป็นหลัก

โดยแม้ว่าการปรับตัวขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกอาจช่วยหนุนให้การส่งออกสินค้าเกษตรของไทยฟื้นกลับมาขยายตัวได้อีกครั้งในปีหน้า แต่ในขณะเดียวกันก็อาจจะต้องประเมินความสามารถในการแข่งขันของเงินบาทประกอบไปด้วยพร้อมๆ กัน ส่วนแรงหนุนจากการใช้จ่ายภายในประเทศนั้น ประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดคือ แรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่อาจจะบดบังกำลังซื้อของประชาชนในประเทศในยามที่เศรษฐกิจต้องการแรงผลักดันจากภาคเอกชนในประเทศ

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน