Display mode (Doesn't show in master page preview)

25 มิถุนายน 2552

ตลาดการเงิน

เฟดมีมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจมากขึ้น แต่ยังคงยืนระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2543)

คะแนนเฉลี่ย

ในการประชุมวันที่ 23-24 มิถุนายน 2552 คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด ได้มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่กรอบ 0.00-0.25% ตามเดิม พร้อมกันนี้ เฟดยังได้ระบุเพิ่มเติมว่า กำหนดเวลาและวงเงินการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ รวมทั้งตราสารหนี้และหลักทรัพย์ที่ได้รับการค้ำประกันจากสัญญาจำนองของหน่วยงานที่รัฐบาลให้การสนับสนุนนั้น จะยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลง จากท่าทีของเฟดในแถลงการณ์หลังการประชุมในรอบนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า เฟดจะยังไม่มีความจำเป็นต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงระยะเวลาอันใกล้นี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้สถานการณ์ที่ปัญหาการว่างงานของสหรัฐฯ ยังไปไม่ถึงจุดที่เลวร้ายที่สุด กระบวนการปรับตัวเข้าหาระดับเสถียรภาพของตลาดที่อยู่อาศัยยังไม่สิ้นสุด ขณะที่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงมีความไม่แน่นอน และอาจได้รับผลกระทบจากการปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งทำให้ต้นทุนทางการเงินประเภทอื่นๆ ปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย

และแม้ว่าเฟดจะไม่ส่งสัญญาณที่ชัดเจนเกี่ยวกับวิธีการและกรอบเวลาสำหรับการยุติมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ในแถลงการณ์ของเฟดก็ได้เริ่มมีการส่งสัญญาณว่า อาจมีการทยอยลดแรงกระตุ้นของนโยบายการเงินที่มีความผ่อนคลายมากเป็นพิเศษนี้ลงในอนาคต เนื่องจากเฟดได้ปรับเปลี่ยนภาษาในแถลงการณ์เพื่อช่วยลดการคาดการณ์ที่สับสนของตลาดการเงินที่มีต่อแนวทางการดำเนินนโยบายของเฟด โดยเฟดได้แสดงความชัดเจนในเรื่องของการไม่เปลี่ยนแปลงวงเงินและกำหนดเวลาการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และตราสารหนี้ที่เกี่ยวข้องกับสัญญาจำนอง

นอกจากนี้ เฟดยังได้เพิ่มบริบทที่ระบุว่า เฟดจะทำการปรับเปลี่ยนมาตรการด้านสินเชื่อและสภาพคล่องในช่วงเวลาที่เหมาะสม เข้ารวมไว้ในแถลงการณ์หลังการประชุมในรอบนี้อีกด้วย ทั้งนี้ ดูเหมือนว่า ตลาดการเงินจะรับรู้การส่งสัญญาณดังกล่าวของเฟดมากพอสมควร โดยตลาดสัญญาอัตราดอกเบี้ยล่วงหน้าปรับตัวเพื่อสะท้อนการคาดการณ์ว่า นโยบายการเงินของเฟดอาจลดการผ่อนคลายลงในระยะถัดไป ขณะที่ ตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ และค่าเงินดอลลาร์ฯ ยังปรับตัวในทิศทางที่สอดคล้องกันกับสัญญาณเชิงบวกดังกล่าวด้วยเช่นกัน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า สถานการณ์ที่อาจเป็นตัวแปรหลักสำหรับการพิจารณาช่วงเวลาสำหรับการทยอยลดแรงกระตุ้นของมาตรการทางการเงินที่ผ่อนคลายอย่างมากของเฟดนั้น อาจอยู่ที่ลักษณะของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งถูกประเมินว่าจะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 3/2552 ว่าจะมีความแข็งแกร่งมากน้อยเพียงใดท่ามกลางแรงกดดันจากปัจจัยแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวย อาทิ ความบอบบางของตลาดแรงงานและตลาดอสังหาริมทรัพย์ ความถดถอยของเศรษฐกิจทั่วโลก การปรับสูงขึ้นของต้นทุนทางการเงิน และการก่อตัวขึ้นของการคาดการณ์เงินเฟ้อ

อย่างไรก็ตาม แม้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ อาจจะมีแนวโน้มยืนที่ระดับต่ำอย่างต่อเนื่องในระยะข้างหน้าเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ แต่การคาดการณ์ที่มีต่อแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยหนุนให้ผลตอบแทนในสินทรัพย์สกุลเงินดอลลาร์ฯ มีความน่าดึงดูดมากขึ้นโดยเปรียบเทียบ ซึ่งนั่นก็เป็นนัยว่า การปรับตัวของตลาดเงิน-ตลาดทุนในระยะข้างหน้า อาจเป็นไปอย่างผันผวนตามแรงคาดการณ์แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ซึ่งจะได้รับการยืนยันโดยข้อมูลทางเศรษฐกิจในระยะถัดไป

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน