Display mode (Doesn't show in master page preview)

15 กรกฎาคม 2552

ตลาดการเงิน

กนง.คงดอกเบี้ยที่ร้อยละ 1.25 ตามคาด...จับตาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและสภาพคล่องแบงก์ในช่วงครึ่งหลังของปี (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2560)

คะแนนเฉลี่ย

ในช่วงบ่ายวันที่ 15 กรกฎาคม 2552 คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (กนง.) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน ไว้ที่ร้อยละ 1.25 ตามการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์และตลาดการเงินส่วนใหญ่ ทั้งนี้ แถลงการณ์หลังการประชุมกนง.เริ่มสะท้อนมุมมองเชิงบวกเล็กน้อย โดยระบุว่า แม้วิกฤตการเงินโลกยังคงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศหลักและประเทศในภูมิภาคเอเชีย แต่สถานการณ์ดังกล่าวได้ทยอยปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับการประชุมครั้งก่อน และสำหรับประเทศไทย กนง.ประเมินว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นหากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวต่อเนื่อง และแรงกระตุ้นจากนโยบายการคลังเริ่มส่งผลมากขึ้น ประกอบกับนโยบายการเงินในปัจจุบันยังคงผ่อนคลาย ซึ่งจะสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจภายใต้สภาวะเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ นอกจากนี้ กนง. ยังจะติดตามความเสี่ยงทางเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศอย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสมที่จะเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่อไป

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจบางตัวอาจจะปรับตัวไปในทิศทางที่สะท้อนถึงความเป็นไปได้ของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะถัดๆ ไป แต่แนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะยังคงทรงตัวอยู่ในระดับที่ต่ำตลอดช่วงที่เหลือของปี 2552 ไปจนถึงช่วงครึ่งแรกของปี 2553 อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ว่า ตลาดการเงินอาจเริ่มปรับตัวรับการคาดการณ์แนวโน้มขาขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายในรอบถัดไปในช่วงท้ายปี 2552 ซึ่งเป็นช่วงจังหวะเวลาที่คาดว่า แนวโน้มการปรับตัวขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ จะกลับมาเป็นประเด็นที่มีน้ำหนักมากขึ้นในการพิจารณาทิศทางของนโยบายการเงินของกนง. และสำหรับทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งยังคงเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจในขณะนี้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ประเด็นที่อาจต้องจับตาเป็นพิเศษในระยะถัดไปก็คือ ประเด็นที่ทางธปท.ได้ออกมาระบุว่า ธนาคารพาณิชย์ควรมีการหารือเพื่อกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อเพิ่มความโปร่งใส และสร้างความชัดเจนให้กับลูกค้าของทางธนาคาร ซึ่งในปัจจุบันธนาคารพาณิชย์กำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แก่ภาคธุรกิจ ด้วยวิธีการอ้างอิงจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (MLR) บวกหรือลบส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (Spread) ที่สะท้อนความเสี่ยงของลูกค้าแต่ละราย

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สิ่งที่จะต้องติดตามในขณะนี้ ก็คือ ภาวะสภาพคล่องของสถาบันการเงินที่อาจถูกกระทบจากปัจจัยทั้งทางด้านเงินฝากและสินเชื่อ โดยนอกจากธนาคารพาณิชย์อาจต้องเผชิญกับการทยอยไหลออกของเงินฝากไปยังผลิตภัณฑ์ทางเลือกในการออมประเภทอื่นๆ ที่ให้อัตราผลตอบแทนที่น่าดึงดูดใจมากกว่า (อาทิ พันธบัตรออมทรัพย์ หุ้นกู้เอกชนที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับสูง และกองทุนรวม) ขณะที่ การปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์อาจเริ่มฟื้นตัวขึ้น โดยเฉพาะหากสัญญาณเชิงบวกทางเศรษฐกิจมีความแข็งแกร่งมากขึ้น ซึ่งหากสถานการณ์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ถูกกระทบจากทั้งสองปัจจัยดังกล่าวจริง ก็อาจส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ต้องเร่งผลักดันผลิตภัณฑ์เงินฝากพิเศษอื่นๆ ออกมาเพื่อรักษาฐานลูกค้า และล็อคต้นทุนเงินฝากระยะยาว และทำให้ต้นทุนเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ต้องโน้มตัวสูงขึ้นตามลำดับ

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน