Display mode (Doesn't show in master page preview)

13 สิงหาคม 2552

ตลาดการเงิน

เฟดเพิ่มมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจมากขึ้น ... แต่การปรับขึ้นดอกเบี้ยยังไม่น่าจะเกิดขึ้นในปีนี้ (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2593)

คะแนนเฉลี่ย

ในการประชุมวันที่ 11-12 สิงหาคม 2552 คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด ได้มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่กรอบ 0.00-0.25% ตามเดิม ทั้งนี้ เฟดมีมติไม่เปลี่ยนแปลงวงเงินสำหรับการซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ในการประชุมรอบนี้ แต่ก็ได้ขยายระยะเวลาให้กับแผนการเข้าซื้อพันธบัตรดังกล่าวออกไปจนถึงเดือนตุลาคม 2552 จากเดิมที่มีกำหนดเสร็จสิ้นในเดือนกันยายนนี้ ส่วนแผนการเข้าซื้อตราสารหนี้และหลักทรัพย์ที่ได้รับการค้ำประกันจากสัญญาจำนองของหน่วยงานที่รัฐบาลให้การสนับสนุนนั้น เฟดได้มีมติไม่เปลี่ยนแปลงทั้งกำหนดเวลาและวงเงินการเข้าซื้อของมาตรการในส่วนนี้ อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญของการประชุมเฟดในรอบนี้ก็คือ แถลงการณ์หลังการประชุมสะท้อนมุมมองของเฟดในเชิงบวกมากขึ้นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ

แม้ถ้อยแถลงหลังการประชุมของเฟดในรอบนี้ จะโน้มเอียงให้สัญญาณเชิงบวกมากขึ้นต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ แต่อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ความรุนแรงของวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินอาจทำให้ช่วงระยะเวลาของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ เกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยคาดว่า ข้อมูลทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะในด้านการผลิต การใช้จ่ายของภาคเอกชน โดยเฉพาะในส่วนที่ได้รับแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการสหรัฐฯ ตลอดจนเครื่องชี้ด้านตลาดอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯ ที่ทยอยปรับตัวขึ้นจากระดับต่ำสุดภายใต้วิกฤตในรอบนี้ จะเป็นสัญญาณสำคัญที่ยืนยันว่า พัฒนาการของเศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังอยู่ในช่วงของการฟื้นตัวขึ้นจากสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดของวิกฤต

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้เศรษฐกิจสหรัฐฯ น่าที่จะผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว แต่การฟื้นตัวยังคงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง โดยเฟดมีแนวโน้มที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในกรอบ 0.00-0.25% ไปตลอดช่วงที่เหลือของปีนี้และอาจต่อเนื่องไปจนถึงครึ่งแรกของปีหน้า เพื่อประคับประคองการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในภาคการเงินและอสังหาริมทรัพย์ อย่างไรก็ตาม อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ คงจะปรับตัวขึ้นตามแรงซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ โดยเฟดที่ชะลอลง ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อทิศทางอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรไทยด้วยเช่นกัน

ส่วนผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สัญญาณเชิงบวกจากเฟด และเครื่องชี้เศรษฐกิจต่างๆ ที่สะท้อนถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ น่าจะเป็นข่าวดีต่อการส่งออกของไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 ซึ่งน่าที่จะได้รับแรงหนุนทั้งจากการกลับมาสต็อกสินค้า (Inventory Restocking) ของผู้ซื้อ และอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจทั้งในจีน และสหรัฐฯ ขณะที่ การส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ของไทยก็น่าจะได้รับแรงหนุนจากทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่เริ่มปรับขึ้นตามราคาน้ำมันและการคาดการณ์ต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน